ใบรับรองอัญมณี สู่ ราคามหาศาล!!!

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

การตรวจสอบแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ของอัญมณีนับเป็นงานบริการที่สถาบันได้ดำเนินการเพิ่มเติมจากการให้บริการตรวจสอบอัญมณีทั่วไปซึ่งเน้นการตรวจสอบความเป็นธรรมชาติและการปรับปรุงคุณภาพเป็นหลัก ในปัจจุบันห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณีชั้นนำทั่วโลกต่างมีบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของอัญมณี ซึ่งโดยทั่วไปการให้บริการดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะอัญมณีที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง เช่น ทับทิม ไพลิน และ มรกต เนื่องจากอัญมณีดังกล่าวหากมาจากแหล่งที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพสูงและเป็นที่นิยมของตลาดก็จะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาของอัญมณีนั้นสูงขึ้นด้วย เช่น ทับทิมพม่า ไพลิน
ศรีลังกา มรกตโคลอมเบีย เป็นต้น

เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย สถาบันได้เปิดให้บริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของอัญมณีนับตั้งแต่ปี 2546 โดยอาศัยฐานข้อมูลจากงานวิจัยด้านแหล่งกำเนิดที่ทางสถาบันได้จัดทำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถาบันมีฐานข้อมูลที่สามารถออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสำหรับทับทิม ไพลิน และ มรกต จากแหล่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ในส่วนทับทิมได้แก่ แหล่งไทย-กัมพูชา แหล่งพม่า แหล่งเวียดนาม แหล่งมาดากัสการ์ และ แหล่งแทนซาเนีย ในส่วนไพลิน ได้แก่ แหล่งไทย แหล่งพม่า แหล่งศรีลังกา และ แหล่งมาดากัสการ์ ในส่วนมรกตได้แก่ แหล่งโคลอมเบีย แหล่งแซมเบีย แหล่งบราซิล และ แหล่งรัสเซีย ซึ่งแหล่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นแหล่งอัญมณีหลักของโลกที่ผลิตอัญมณีชนิดสำคัญดังกล่าวออกสู่ตลาดโลกทั้งสิ้น
สำหรับในวงการค้าอัญมณี ผู้ขายและผู้ซื้อมักนำเอาแหล่งกำเนิดของพลอย
คอรันดัมมาใช้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดราคา โดยทั่วไปอัญมณีเกือบทั้งหมดที่มีการขอรับบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดล้วนเป็นอัญมณีคุณภาพสูง ขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากอัญมณีคุณภาพสูงที่มาจากแหล่งที่มีชื่อเสียงเท่านั้นมักจะเป็นที่ต้องการในตลาดอัญมณี การทราบแหล่งกำเนิดจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาของอัญมณีเม็ดดังกล่าวสูงกว่าอัญมณีชนิดเดียวกันที่ไม่ได้ระบุแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาทางภูมิศาสาตร์เป็นอย่างมาก แม้ว่าอัญมณีทั้งสองเม็ดจะมีคุณภาพใกล้เคียงกันก็ตาม

ในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น ความถูกต้องของผลการตรวจสอบเกิดจากการได้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากอัญมณีที่ทำการตรวจสอบ ทั้งในด้านลักษณะมลทิน ผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ผลวิเคราะห์การดูดกลืนแสง โดยใช้ทั้งเครื่องมือพื้นฐานและเครื่องมือขั้นสูง ซึ่งในการสรุปผลจะต้องนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาทำการประมวลและเทียบเคียงว่าสอดคล้องกับฐานข้อมูลหรือไม่ ขั้นตอนต่างๆ ล้วนต้องใช้เวลาและประสบการณ์ของนักอัญมณีที่ทำการตรวจสอบเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ใช้เวลานานกว่าการตรวจสอบโดยทั่วไป

ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกกฏหมาย "Tom Lantos Block Burmese JADE Act of 2008" ห้ามนำเข้าอัญมณีที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเมียนมาร์สู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกทับทิม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลักและทับทิมที่มีใช้อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นทับทิมพม่า สถาบันในฐานะองค์กรหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ จึงได้ดำเนินการขยายบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดให้แก่อัญมณีจากเดิมที่รับตรวจสอบเฉพาะอัญมณีที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.50 กะรัต โดยเพิ่มบริการรับตรวจสอบสำหรับอัญมณีขนาดเล็ก (ไม่ต่ำกว่า 0.20 กะรัต) รวมทั้งการตรวจสอบอัญมณีแบบหมู่ และอัญมณีที่อยู่ในตัวเรือนเครื่องประดับโดยการสุ่มตรวจสำหรับเม็ดที่สามารถวิเคราะห์ได้ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ตรวจ สถาบันจึงระบุแต่เพียงว่า "Nonburmese Origin" ซึ่งอัญมณีขนาดเล็กนั้นนับเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับอัญมณีที่มีการค้าขายและส่งออกสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการการห้ามนำเข้าอัญมณีของประเทศเมียนมาร์ไปยังสหรัฐอเมริกาดังกล่าว
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ทองโบราณ ''ทองสุโขทัย''

เขียนโดย Admin 1 ความคิดเห็น

สุโขทัยเป็นดินแดนขึ้นชื่อแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมาย “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แม้แต่ ”ทอง” ที่สมัยนั้นก็เหลือล้นจนจารึกไว้ในหลักศิลาจารึกว่า “ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า”

เที่ยวชมมรดกโลกที่ศรีสัชนาลัยของสุโขทัยอีกแห่งหนึ่ง ชาวศรีสัชฯ บอกว่าดูเมืองโบราณแล้ว ต้องดูของโบราณที่ทำขึ้นใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับคำจารึกข้างบนที่ค้าเงินค้าทองกันมาเกือบพันปี เพราะว่าเมืองนี้มีทองโบราณ เรียกว่า ทองสุโขทัย หรือทองศรีสัชนาลัย ที่เรียกทองโบราณเนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ทองรูปพรรณโดยได้แบบลวดลายจากปูนปั้นโบราณตามศาสนสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย เช่น ลวดลายปูนปั้นที่วัดเชตุพน วัดนางพญา ที่ยังคงมีลวดลายปรากฏอยู่เป็นหลักฐาน

วิธีการทำทองโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ ต้องผลิตโดยใช้มือทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การใช้ทอง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ หลอมลงในรางเหลี่ยม รอให้แข็งเป็นแท่ง แล้วนำมารีดเป็นเส้นเพื่อนำไปถักเป็นสายสร้อย มีลวดลายที่ถักทอทองเส้นเล็ก ๆ จำนวนมาก เช่น ลายถักโป่ง ลายสามเสา ซึ่งคล้ายลายถักโป่ง แต่ขนาดเล็กกว่า หรือตีทองให้เป็นแผ่น เพื่อตีลงบนลางโอที่มีรูกลม ๆเป็นแบบขึ้นทรงรูปประคำ จากนั้นเจาะรูที่หัวท้ายลูกประคำเพื่อร้อยสายสร้อย ลูกประคำก็มีหลายแบบ เช่น ทรงตะกร้อ ทรงลูกสน ทรงลูกมะยม และทรงลูกโคม ที่เลียนแบบมาจากโคมไฟโบราณ

การทำทองโบราณแหล่งใหญ่อยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของช่างฝีมือต่าง ๆ มาแต่โบราณประมาณ ๑๐ ปีก่อน ร้านทองสมศักดิ์นับว่าเป็นร้านแรกที่ทำทองโบราณ ลวดลายเด่น ๆของร้าน คือ ลายพลายชุมพล ลายเชือกสปริง ลายมือเปียเย้า รวมเวลาการทำทั้งหมดตกชิ้นละกว่า ๓ วัน ช่างฝีมือที่ทำทองก็เป็นชาวบ้านในละแวกศรีสัชนาลัย ความที่เป็นทองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ทองโบราณมีสีทองเปล่งปลั่งกว่าทองเยาวราช “ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากดูที่ขอทอง ขอจะนิ่มกว่าอย่างเห็นได้ชัด” คุณศุภฤกษ์ ชุมสมัย ผู้จัดการร้านทองสมศักดิ์อธิบายและเล่าต่อว่า

“ทองที่นี่จึงไม่นิยมทำเป็นเครื่องประดับเพชรพลอยเพราะทองจับพลอยไม่อยู่ ที่สำคัญมีการใช้หินสีลงยาทองเป็นลวดลายสีสดใส เช่น สีแดง เขียว น้ำเงิน แทนการประดับเพชรพลอยต่างๆ จนเป็นเอกลักษณ์เด่นของเครื่องประดับทองโบราณสุโขทัย”

เมื่อได้เส้นทองถักและลูกประคำลงยาแล้ว จึงนำมาร้อยเรียงและประกอบให้เป็นเครื่องประดับตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะชิ้นเล็ก ๆ อย่างแหวน ต่างหู กำไลข้อมือ สายสร้อย กรอบพระ หรือจะเป็นชิ้นใหญ่ตามที่ลูกค้าสั่งพิเศษ เช่น ทับทรวง รัดเกล้า กำไลแขน กะบังหน้า ไปจนถึงเครื่องประดับตามโบราณวัตถุ โบราณสถานที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่าคู่บ้านคู่เมือง

ร้านที่มีชื่อเสียงในด้านการทำทองโบราณอีกร้านหนึ่งคือร้านสุภาพร ซึ่งมีการพัฒนาให้ทองโบราณนี้ขึ้นชื่อด้วยการออกแบบทองรูปลักษณ์ใหม่ ๆ แต่ยังคงความเป็นทองโบราณไว้ ส่งประกวดแล้วได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้งรางวัลประกวดการออกแบบและผลิตภัณฑ์เครื่องประดับไทย และสร้อยลายพวงมาลัยที่ได้รับรางวัลGolden Design Award’96 เป็นต้น หรือเครื่องทองในภาพยนตร์สุริโยไทก็ทำที่นี่กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเครื่องเงินชุบทองประดับพลอยต่าง ๆ

ปัจจุบันทองโบราณสุโขทัยถึงแม้จะมีราคาแพงกว่าทองทั่ว ๆ ไป ราคาขายประมาณบาทละ ๗,๓๐๐ บาท ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวกรุงเทพฯ และชาวใต้ ที่นิยมเครื่องประดับทอง แม้ผลกระทบจากราคาทองในท้องตลาดโลกจะสูงขึ้น แต่ความนิยมในการเลือกซื้อทองโบราณมาเป็นเครื่องประดับ โดยเฉพาะคู่กับชุดไทยแล้ว ยังได้รับความนิยมอยู่เรื่อย ๆ ทองโบราณมีแหล่งผลิตและจำหน่ายหลายร้านค้าตลอดสองข้างทางเส้นสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย บริเวณตำบลท่าชัยและตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนสลัย

เรื่องโบราณ ๆ ยังคงมีอีกมากน่าสนใจศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทองโบราณยิ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะกล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งบุญญาธิการ ความยิ่งใหญ่ ทองโบราณได้แทนความเจิดจรัสของรุ่งอรุณแห่งความสุข เมื่อนึกถึงทองเมืองเก่าสุโขทัยก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงทองโบราณนี้คู่กันไป
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ทอง เครื่องประดับของไทย

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น


ตั้งแต่สมัยโบราณ เครื่องประดับทองมักถูกนำมามอบเป็นของขวัญของกำนัลให้แก่กันในหมู่คนไทย เนื่องในวันเทศ-กาลและวันพิเศษต่างๆ ดังที่บทความเรื่อง เครื่องทองของไทย จากนิตยสาร World of Gold Jewelry & Watches บรรยายไว้ว่า คนไทยมีความผูกพันกับเครื่องประดับทองอย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่เริ่มเกิดมาลืมตาดูโลก คนไทยมักจะให้เครื่องประดับทองเป็นของขวัญแก่เด็กแรกเกิด เนื่องในโอกาสที่เกิดขึ้นมาร่วมวงศาคณาญาติ เมื่อเข้าสู่วัยออกเรือนมีคู่ครอง พ่อแม่ฝ่ายชายนิยมมอบสินสอดทองหมั้นมาสู่ขอฝ่ายหญิงในรูปของเครื่องประดับทอง หรือ ทองคำแท่ง แม้กระทั่งในการรับไหว้ลูกสะใภ้ก็ไม่พ้นการมอบเครื่องประดับทองอีก
ด้วยความหมาย และสีอันเป็นมงคลของทองคำ อีกทั้งยังเป็นของขวัญที่มีมูลค่าไม่สูญเปล่า ทองคำจึงเป็นของขวัญที่สร้างความชื่นใจให้แก่ผู้ให้และผู้รับเสมอมาจนกระทั่งปัจจุบัน
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ความรู้เรื่อง ''ทอง''

เขียนโดย Admin 1 ความคิดเห็น


ทองคำ(AU) เป็นโลหะชนิดเดียวที่มีค่าสูงสุด มีคุณสมบัติพิเศษ คือ แม้จะเข้าไปอยู่ในเนื้อโลหะใดก็ตามจะสามารถแสดงคุณสมบัติของตนเองให้ชัดขึ้นได้ตามปริมาณและสามารถสกัดหลอมแยกออกมาจากโลหะอื่นได้อีกด้วย คุณสมบัติพิเศษอีกประการ คือ ทองคำเป็นโลหะที่มีความมั่นคง หรือ คงอยู่ในตัวเองตลอดจนมีกรรมวิธีในการทำให้เป็นทองคำบริสุทธิ์นั้นซับซ้อนเป็นอย่างมาก จึงทำให้ทองคำเป็นโลหะที่มีค่าและหายาก
คุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ ทองคำเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติอันเกิดจากการผสมของธาตุอื่น เช่น เงิน ทองแดง เหล็ก เทลรูไลน์ เป็นต้น มีความแข็ง ๒.๕-๓.๐ เท่า ค่าความถ่วงจำเพาะ ๑๕.๖–๑๙.๓ แล้วแต่มลทินปะปนในเนื้อ มีลักษณะสีเหลืองวาว และมีน้ำหนักมาก มีความอ่อนเหนียวที่สามารถทุบเป็นแผ่นบาง ดัด ดึง และทำให้เป็นเส้น หรือรูปทรงต่างๆ ได้ดี ทองคำจะละลายได้ในกรดกัดทองเท่านั้น ความบริสุทธ์ของทองคำจะคิดเป็นกะรัต โดยมีข้อกำหนดว่า ทองคำบริสุทธิ์จะเท่ากับ ๒๔ กะรัต หรือ ๑,๐๐๐ ไฟน์เนส (Fineness) ดังนั้น ทองคำ ๑๘ กะรัต หมายถึง โลหะที่มีทองคำ ๑๘ ส่วน อีก ๖ ส่วนนั้นเป็นโลหะชนิดอื่น เช่น เงิน ทองแดง นิกเกิล หรือมีทองคำ ๗๕๐ ไฟน์เนส หรือ ๗๕ เปอร์เซ็นต์
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

การเลือกซื้อทอง ภาค2

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น


เรามาต่อจากบทที่แล้วกันเลยดีกว่า ^_^
ขนาดกะรัตของทองรูปพรรณ
เป็นที่ทราบกันดีว่าทองรูปพรรณจะอยู่ในรูปของทองกะรัตไม่ว่าจะเป็น 10 k , 14 k , 18 k และอื่นๆอีกมากมายซึ่งทั้งหมดก็จะมีคุณสมบัติของสีแตกต่างกันไปและด้านราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามขนาดกะรัตของทองรูปพรรณเช่นกัน โดยราคาของทองรูปพรรณ 10 k อยู่ในช่วงประมาณ 14-20 $ ต่อกรัม , ทองรูปพรรณ 14 k อยู่ที่ 20-30 $ ต่อกรัม และทองรูปพรรณ 18 k อยู่ที่ 27-37 $ ต่อกรัม โดยเราสามารถสังเกตกะรัตของทองรูปพรรณนั้นได้จากตราประทับบนตัวทองรูปพรรณชิ้นนั้นได้เลย

น้ำหนักของทองรูปพรรณ
คุณรู้บ้างไหมทำไมน้ำหนักจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาเลือกทองรูปพรรณนั้นก็เพาระว่าน้ำหนักนี้และจะเป็นตัวบอกถึงปริมาณของทองคำที่ใส่ลงไปในทองกะรัตต่างๆ ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาและความแข็งแรงของทองรูปพรรณสูงตามไปด้วยเช่นกันนั้นก็เพราะว่าน้ำหนักทองที่เพิ่มขึ้นจะไปช่วยลดการโค้งงอและการหักได้
ลักษณะการออกแบบ
การออกแบบทองรูปพรรณนั้นจะเน้นถึงความพิเศษ , ความประณีต , การสลักลวดลายและความเรียบร้อยอีกทั้งยังมีการเพิ่มลักษณะของพื้นผิวเข้าไปอีกไม่ว่าจะเป็นแบบผิวเงา , แบบผิวด้านและแบบผิวซาติน ซึ่งจากลักษณะการออกแบบที่แตกต่างกันออกไปทำให้ท่านต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นตามการออกแบบ , ตามสีต่างๆ ของทอง และรูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตใส่เข้าไป โดยเฉพาะงานฝีมือจะมีราคาที่สูงกว่างานทั่วๆไป

ความประณีตและคุณภาพ
ปัจจุบันการผลิตทองรูปพรรณส่วนใหญ่จะผลิตด้วยเครื่องจักรเพราะจะได้ทองรูปพรรณที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานแต่ก็มีการฝีมือที่ผลิตออกมาให้เราได้เลือกซื้อกันอย่างมากมายเช่นกันเนื่องจากงานฝีมือเป็นที่นิยมของท้องตลาดเพราะมีลวดลายที่สวยงามกว่าทองรูปพรรณที่ผลิตโดยใช้เครื่องจักร ดังนั้นเราควรสังเกตให้ดีเวลาเลือกซื้อทองรูปพรรณจุดแรกที่ควรสังเกตคือบริเวณจุดเชื้อมต่อ , ข้อต่อ และตัวสลักเพราะว่าทั้งสามจุดนี้มักจะแตกหักได้ง่ายดังนั้นควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่ามีความแข็งแรงทนทานรวมทั้งตรวจสอบแหล่งที่มาของทองที่นำมาผลิตทองรูปพรรณซึ่งอาจมีการประทับตราบนตัวทองรูปพรรณซึ่งแหล่งที่มาต่างกันราคาก็จะต่างกันไปด้วย

คุณสมบัติของทองคำ

มีความแวววาวอยู่เสมอ ทองคำไม่ทำปฏิกริยากับออกซิเจนดังนั้นเมื่อสัมผัสถูกอากาศสีของทองจะไม่หมองและไม่เกิดสนิม มีความอ่อนตัว ทองคำเป็นโลหะที่มีความอ่อนตัวมากที่สุด ด้วยทองเพียงประมาณ 2 บาท เราสามารถยืดออกเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 8 กิโลเมตร หรืออาจตีเป็นแผ่นบางได้ถึง 100 ตารางฟุต เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี ทองคำเป็นโลหะชนิดหนึ่งที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดี สะท้อนความร้อนได้ดี ทองคำสามารถสะท้อนความร้อนได้ดี ได้มีการนำทองคำไปฉาบไว้ที่หน้ากากหมวกของนักบินอวกาศเพื่อป้องกันรังสีอินฟราเรด

หน่วยน้ำหนักของทองคำ

กรัม : ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นหน่วยสากล
ทรอยเอานซ์ : ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
โทลา : ใช้กันทางประเทศแถบตะวันออกกลาง อินเดีย ปากีสถาน
ตำลึง : ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาจีน เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง
บาท : ใช้ในประเทศไทย
ชิ : ใช้ในประเทศเวียตนาม

การแปลงน้ำหนักทองคำ

ทองคำความบริสุทธิ์ 96.5% (มาตรฐานในประเทศไทย)

ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม
ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม
ทองคำความบริสุทธิ์ 99.99%

ทองคำ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.1508 ออนซ์
ทองคำ 1 ออนซ์ เท่ากับ 31.104 กรัม
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

การเลือกซื้อทอง ภาค1

เขียนโดย Admin 1 ความคิดเห็น

เศรษฐีหลายท่านมักนิยมสะสมเครื่องเพชร เพราะนั่นถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ถือว่าคุ้มค่า เพราะยิ่งนานวันมูลค่าของเพชรเก่าก็ยิ่งสูงขึ้น แต่นอกจากเพชรแล้ว หลายคนมักนิยมซื้อทองคำมาเก็บหรือออมด้วยเหมือนกัน เพราะราคาทองคำไม่มีวันตก นับวันราคาทองคำมีแต่จะขึ้นสูงจากตามกาลเวลา
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า มีองค์ประกอบใดบ้างที่นำมาใช้ในการพิจารณาในการเลือกซื้อทองรูปพรรณแล้วองค์ประกอบอะไรที่มีผลทำให้ราคาทองรูปพรรณมีความแตกต่างกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านั้นก็ได้แก่ ขนาดกะรัต , น้ำหนัก ,การออกแบบ , ความประณีตและคุณภาพของทองรูปพรรณ
จริงๆ แล้วทองคำ (Gold) เป็นโลหะมีค่า ที่อยู่ในกลุ่มโลหะประเภทเดียวกับเงิน แพลทินัม แพลเลเดียม โรเดียม อิริเดียม รูธินั่ม และออสเมียมที่หายาก ทองคำเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในปริมาณน้อยมาก (~ 0.007 ppm) มีความคงทนต่อการเกิดปฏิกิริยาสูง จึงทนต่อการผุกร่อนไม่เกิดออกซิไดซ์กับอากาศ สามารถเก็บรักษาโดยคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมอันสวยงามไว้ได้นานไม่มัวหมอง จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับ วัสดุทางทันตกรรม บางส่วนของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และทองคำบริสุทธิ์ (99.999%) เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

ทองคำ (Gold) โดยมีสัญลักษณ์ทองเคมี คือ Au มาจากภาษากรีกว่า Aurum มีน้ำหนักอะตอม 196.966 amu ความถ่วงจำเพาะ 19.33 g/cc มีจุดหลอมเหลว 1064 องศาเซลเซียส จุดเดือด 2970 องศาเซลเซียส เป็นโลหะอ่อนสามารถตีเป็นแผ่นบางๆหรือดึงเป็นเส้นได้ โดยทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 ออนซ์ สามารถดึงเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 35 ไมล์ มีค่าความแข็ง (Hardness) ~ 2-2.5 (เพชร = 10) หน่วยของน้ำหนักทองคำที่ใช้ทั่วไปคือ กรัม สำหรับประเทศไทยนิยมใช้หน่วยเป็นบาท มีค่าเท่ากับ 15.2 กรัม
ทองคำมักนำมาทำเป็นโลหะผสม (Alloy) กับโลหะชนิดอื่น เช่น เงิน นิกเกิล ทองแดง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานและ/หรือปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพอื่นๆ (เช่น สี จุดหลอมเหลว เป็นต้น) เช่น ทองกะรัต (Karat Gold)ได้จากการผสมทองคำบริสุทธิ์กับเงินและทองแดง ทองคำขาว (White Gold) ได้จากการผสมทองคำบริสุทธิ์กับพัลลาเดียม นิกเกิลและสังกะสี และทองสีชมพู (Pink Gold) ได้จากการผสมทองคำบริสุทธิ์ กับเงินและทองแดง (ในสัดส่วนทองแดงที่มากขึ้น) ปริมาณทองคำหรือความบริสุทธิ์ของทองคำนี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของการใช้งานและความต้องการของแต่ละประเทศ บทนี้ก้อพอเท่านี้ก่อน นะครับ!!!
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

เทคนิคการดู ''ทองปลอม''

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

1.สังเกตดูยี่ห้อภาษาจีนว่ารู้จักหรือไม่ ถ้ายี่ห้อดูไม่ชัดเจน หรือตอกตัวอักษรจีนแบบมั่วๆ อ่านไม่รู้เรื่อง ก็ให้ระวังตัวให้ดีว่าเป็นทองปลอม แต่ก็ อย่าเพิ่งชะล่าใจเพราะปัจจุบัน มิจฉาชีพ บางคนปลอมแปลงยี่ห้อร้านชื่อดัง หรือตัดต่อหัวท้าย ของจริงมาใส่กับทองปลอมที่ทำขึ้นมาด้วย

2.สังเกตขนาดของทองรูปพรรณคือ ถ้าทองที่มาขาย น้ำหนัก 1บาท แต่มีขนาดเท่ากับทอง 2บาท (ต้องเปรียบเทียบกับทองลวดลายเดียวกัน)ก็ขอให้ระวังตัวให้ดี เพราะทองคำเป็นโลหะที่มีมวลหนักเกือบที่สุดในโลก ส่วนโลหะเงิน จะมีมวลมากกว่าทองคำเท่าตัวดังนั้นถ้าหากมิจฉาชีพนำสร้อยเงินชุบทองมาขายก็จะมีขนาดใหญ่กว่าทองจริงเท่าตัว

3.ลองโยนดูในมือ ดูน้ำหนักทองที่ตกกระทบกับมือเรา ถ้าเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์มานานจะสามารถบอกได้เลยว่าเป็นทองปลอมหรือไม่ เพราะถ้าทองจริงจะมี น้ำหนักที่คุ้นมือ ถ้าทองปลอมจะมีน้ำหนักเบาในมือ แต่ขอให้ระวังในกรณีที่เป็นทองยัดไส้เงิน หรือ ยัดไส้น้ำประสานทองเพราะจะโยนแล้ว หน่วงมือผิดปกติ ขอให้ใช้วิจารณญานด้วยว่าทองที่ลูกค้านำมาขายนั้น เป็นลายโปร่งหรือลายตัน ถ้าเป็นลายโปร่งแต่โยนแล้วหนักมือผิดปกติ ให้สันนิษฐานว่ามีการยัดไส้เงิน หรือ น้ำประสานทองไว้ภายใน

4.ถ้าเป็นแหวนหรือกำไลเงินหุ้มทองให้ใช้วิธีการโยนให้แหวนตกกระทบลงกับตู้กระจก หรือโยนลงบนพื้นบ้าน แล้วฟังเสียงเวลาตกกระทบเปรียบเทียบกับแหวนทองจริงน้ำหนักเดียวกันของร้านเรา ว่ามีเสียงแตกต่างกันหรือไม่เพราะถ้าแหวนเงินยัดไส้จะมีเสียงตกกระทบกับกระจกหรือพื้นบ้านที่ดังกว่าเพราะหนากว่าแหวนทองจริง ที่เสียงจะเงียบกว่ามาก

5.ระวังลูกค้าที่ทำให้เราวุ่นวาย หมุนไปหมุนมา เปลี่ยนใจบ่อยๆ หรือ ทำท่ายื้อยักว่าจะขายแล้วเปลี่ยนใจไม่ขาย เอาทองที่ให้เราดูขึ้นๆลงๆจากกระเป๋า เพราะคนร้ายกำลังเปลี่ยนเส้น จากทองจริงที่ให้เราดูทีแรก กับทองปลอมที่เตรียมมากะเวลาเราเผลอไม่ทันสังเกตอีกที ก็เจอทีเด็ดทองปลอมจากเขาเลย

ข้อสำคัญที่สุดคืออย่าโลภ ถ้าลูกค้าคนไหนดูผิดปกติ วอกแวก น่าสงสัย บอก น้ำหนักทองที่มาขายไม่ถูกต้อง หรือบอกว่าตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของทองแต่เพื่อนขอร้องให้เขานำมาขาย หรือให้คนแก่ หรือเด็กมาขาย ก็ขอให้ระวังเพราะเขาอาจจะโดนหลอกให้มาขาย แล้วเป็นแพะรับบาป ปฏิเสธการซื้อทองเก่าจากเขาจะเป็นการดีที่สุด
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

การใช้กล่อง 10 เท่า (Loupe) ส่องเพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

ก่อนอื่นให้จับปากคีบเพชร (Tweezer) ด้วยมือข้างที่เราถนัด โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ครับ ตามรูปซ้ายสุดด้านบน ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมืออีกข้างจับกล้องขยายสิบเท่า โดยให้กางนิ้วกลางออกมาครับ ตามภาพกลางด้านบน แล้วให้นำปากคีบเพชร วางลงบนนิ้วกลาง จากนั้นให้มองผ่านกล้อง โดยเปิดสองตา (ถ้าเปิดตาข้างเดียว มองนานๆจะปวดตาครับ) ขยับกล้องเข้าออก จนภาพที่เห็นผ่านกล้องคมชัด ตามรูปบนด้านขวาสุด ต้องพยายามให้มือนิ่งๆ นะครับ ให้ยึดมือที่ถือปากคีบที่คีบเพชรไว้ให้นิ่ง ขยับเฉพาะอีกมือที่ถือกล้องเข้าออก หลังจากพอจะใช้กล้องส่องเพชร (loupe) ได้แล้วเรามาลองดูวิธีการเทียบสีเพชรครับ
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ประเมินขอบ เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

ขอบเพชรมีผลค่อนข้างมากต่อความสวยงามของเพชรโดยรวม ขอบเพชรที่ดีควรอยุ่ระหว่าง บาง ถึงหนาเล็กน้อย thin-slightly thick ถ้าขอบเพชรบางเกินไป (Very thin) จะเปราะและอาจบิ่นง่ายครับ ถ้าขอบเพชรหนาไป (thick, very thick) น้ำหนักเพชรจะไปอยู่ที่ขอบซะเยอะ ทำให้เพชรหน้าแคบกว่าที่ควรครับ เช่น เพชรขนาด 50 ตังค์ อาจดูเหมือน 40ตังค์
- บางมาก (very thin) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้นบางๆ มองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น
- บาง (Thin) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้นบาง มองด้วยตาเปล่า เห็นได้ยาก
- ปานกลาง (Medium) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้น มองด้วยตาเปล่า เห็นเป็นเส้นบางๆ
- ค่อนข้างหนา (Slightly thick) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นได้ชัดเจน และสามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่า
- หนา (Thick) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นได้ชัดมาก และสามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่า
- หนามาก (Very Thick) - เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นขอบหนามาก และสามารถเห็นชัดเจนมากด้วยตาเปล่า
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ประเมินมุมคราวน์ ของ เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น


มุมคราวน์มีส่วนอย่างมากต่อความสวยงามของเพชร ถ้าคราวน์สูงหรือต่ำไป เพชรจะดูมืด ไม่สะท้อนแสง และเปล่งประกายเท่าที่ควร ตามทฤษฎีแล้ว มุมคราวน์ที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ที่ 34-35 องศาครับ เราสามารถประเมินองศามุมคราวน์ได้จากการมองด้านหน้าเพชรมุมตรงครับ ดูรายละเอียดมุมคราวน์ที่เหมาะสมได้จาก ภาพด้านบน
- กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 2:1 มุมคราวน์ประมาณ 39 องศา ซึ่งสูงเกินไปครับ เพชรเม็ดนั้นๆมักมี คราวน์สูง และเพชรหนา มีหน้าแคบกว่าเพชรที่สมส่วน เพชรจะดูหน้ามืดครับ ควรหลีกเลี่ยง
- กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 1.5:1 มุมคราวน์ประมาณ 34.5 องศา ซึ่งถือว่าสวยงาม ได้มาตรฐานเหลี่ยมในอุดมคติครับ เพชรจะเปล่งประกายสวยงาม
- กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 1:1 มุมคราวน์ประมาณ 30 องศา ซึ่งถือว่าต่ำเกินไปครับ เพชรเม็ดนั้นๆมักมีคราวน์เตี้ย และบาง ทำให้แสงลอดออกและไม่สะท้อนกลับทางหน้าเพชร บางครั้งอาจเห็น Fish eye (ภาพสะท้อนของขอบเพชรที่ขุ่น ที่หน้าเพชร) ด้วยครับ
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ประเมินคุณภาพการเจียรไน เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น


คุณภาพในการเจียรไน ถือว่ามีผลต่อความสวยงามของเพชรมากครับ ต่อให้เพชรคุณภาพ D/IF หากเจียรไน ไม่ดี ก็จะไม่สามารถเปล่งประกายสวยงามได้อย่างที่ควรที่จะเป็น และคุณภาพการเจียรไน เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก สำหรับการดูเพชรเบื้องต้นนี้ผมขออธิบายเฉพาะจุดที่สำคัญ และ ไม่ลงในรายละเอียดมากเกินไปนะครับ ก่อนที่จะสามารถประเมินคุณภาพของการเจียรไนเพชรได้อย่างคร่าวๆ เราต้องทราบก่อนว่าเหลี่ยมต่างๆของเพชร เรียกว่าอะไรกันมั่งครับ สามารถดูรายละเอียด จากภาพด้านบน
- กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นโค้งเว้าเข้าจุดศนย์กลางเพชร (Bow in) เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table เล็กกว่า 60% (% เมื่อเทียบกับ ขนาดเพชรเมื่อมองจากด้านหน้า) อย่างในรูปบนซ้ายสุด table ประมาณ 56-58% ขนาด table ควรจะเป็นเท่าไหร่ดูรายละเอียดได้จาก ภาพด้านบน ครับ ถ้าได้ class 1 ก็จะดีมากครับ
- กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นตรงเหมือนภาพกลางด้านบน เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table ประมาณ 60%
- กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นโค้งเว้าออกจากจุดศูนย์กลางเพชร (Bow out) เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table ใหญ่กว่า 60% จากรูปบนขวาสุด table ประมาณ 62% ครับ
ป้ายกำกับ:

ประเมินความสะอาดของ เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

การประเมินความสะอาดต้องดูภายใต้กล้องขยาย 10 เท่านะครับ โดยต้องใช้โคม daylight ช่วยส่องสว่าง กรณีที่ไม่แน่ใจว่าเป็นฝุ่น หรือมลทินที่อยู่ในเพชร ให้สังเกตว่าอยู่บริเวณผิว หรืออยู่ในเนื้อเพชร และให้ใช้ผ้าเช็ดดูนะครับ เมื่อเช็ดแล้ว ถ้าเป็นฝุ่นก็จะหลุดออก ถ้ายังเห็นก็น่าจะเป็นมลทินในเนื้อเพชร เวลาส่องดูให้พลิกเพชรมองดูหลายๆมุมนะครับ บางครั้งมุมนึงอาจมองไม่เห็น แต่พอมองอีกมุมกลับเห็นครับ
•กรณีที่ส่องดูจนทั่วใช้เวลากว่านาทีแล้วยังไม่พบอะไร เพชรเม็ดนั้นน่าจะเป็น IF (Internal Flawless)
•กรณีที่ต้องใช้เวลาค้นหา นานประมาณ ครึ่งนาที หรือมากกว่า(ขึ้นอยู่กับความชำนาญด้วยครับ) ถึงจะพบตำหนิขนาดเล็กมากมาก ลักษณะคล้ายรูเข็ม (pinpoint) หรือผลึกขนาดเล็กมากๆ เหมือนรูปด้านบนซ้ายมือสุด ในวงกลมสีแดง สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ VVS (Very Very Small Included)
•กรณีที่ต้องใช้เวลาค้นหา นานประมาณ 10 วินาที หรือมากกว่าถึงจะพบตำหนิขนาดเล็กมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่และจำนวนมากกว่าความสะอาด VVS ตามรูปกลางครับ สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ VS (Very Small Included) สำหรับเพชรความสะอาดระดับ VS มลทินหรือตำหนิจะมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเห็นได้ด้วย ตาเปล่า และไม่ขัดขวางการเดินทางของแสง จึงไม่มีผลใดๆต่อความสวยงามของเพชรครับ
•กรณีที่ส่องกล้องแล้วเห็นตำหนิทันที โดยไม่ต้องค้นหา และตำหนิขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดใหญ่และจำนวนมากกว่าความสะอาด VS ตามรูปขวาครับ สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ SI (Small Included) สำหรับความสะอาดระดับ SI ถ้ามลทินมีขนาดใหญ่ หรือมีสี หรืออยู่กลางหน้าเพชร อาจขัดขวางการเดินทางของแสงและมีผลต่อความสวยงามของเพชรโดยรวมครับ
•กรณีที่สามารถมองเห็นตำหนิด้วยตาเปล่า เพชรเม็ดนั้นมีความสะอาดระดับ I (Imperfect) ตำหนิมีขนาดใหญ่ มีผลต่อความสวยงามและความคงทนของเพชรครับ แนะนำให้หลีกเลี่ยงทุกกรณี
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

การประเมินสีต่างๆของ เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น


วิธีแรกคือการประเมินสี โดยที่มีเพชรต้นแบบ (master stone กรณีนี้ยกตัวอย่างว่าสีต้นแบบเป็นสี G น้ำ 97) ไว้เปรียบเทียบ ให้วางเพชรต้นแบบและ เพชรที่ต้องการเทียบสี คว่ำลงครับ โดยให้มองที่ก้นเพชรเฉียงๆ มุม 45 องศา โดยให้วางเพชรต้นแบบ ไว้ตรงกลาง และให้วางเพชรที่ต้องการเทียบไว้ทางซ้าย สังเกตว่าสีอ่อนกว่า (ขาวกว่า) หรือเข้มกว่า (เหลืองกว่า) เสร็จแล้วให้เปลี่ยนเพชรที่ต้องการเทียบมาไว้ด้านขวาและเปรียบเทียบอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยง master eye effect (การประเมินสีต้องดูเพชรภายใต้แสงอาทิตย์ หรือแสงสีขาว (Daylight)
•ถ้าผลสรุปว่า วางด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านนึงสีเข้มกว่า สรุปได้ว่าเพชรที่นำมาเทียบสีเดียวกันกับเพชรต้นแบบ คือ น้ำ 97
•ถ้าด้านนึงเข้มกว่า อีกด้านเท่ากัน สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีต่ำกว่าเพชรต้นแบบ 1 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 96
•ถ้าด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านเท่ากัน สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีสูงกว่าเพชรต้นแบบ 1 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 98
•ถ้าด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านนึงก็อ่อนกว่า สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีสูงกว่าเพชรต้นแบบอย่างน้อย 2 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 99 ขึ้นไป
และถ้าด้านนึงเข้มกว่า อีกด้านนึงก็เข้มกว่า สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีต่ำกว่าเพชรต้นแบบอย่างน้อย 2 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำต่ำกว่าหรือเท่ากับ 95 ลงมา
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

ความรู้เกี่ยบกับ เพชร

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

1 --> เหลี่ยมเทเบิ้ล (Table)
2 --> เหลี่ยมสตาร์ (Star)
3 --> เหลี่ยมเบเซิล หรือเหลี่ยมไคท์(Kite)
4 --> เหลี่ยมอัพเพอร์เกิลเดิล (Upper girdle)
5 --> เหลี่ยมโลเวอร์เกิลเดิล (Lower girdle)
6 --> เหลี่ยมพาวิลเลียนเมน (Pavilion main)
7 --> คิวเลท (Culet)

เมื่อมองเพชรจากด้านข้าง ส่วนด้านบนของเพชรเรียกว่า "คราวน์" (Crown) ส่วนด้านล่างของเพชรเรียกว่า "พาวิลเลี่ยน" (Pavillion) และ ส่วนกลางของเพชร หรือขอบเพชร เรียกว่า "Girdle"
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

4Cs คือ??

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

หลักสากล 4Cs
เป็นหลักการจำแนกระดับต่างๆของเพชรหรือง่าย ๆ ก็คือวิธีการตัดสินว่าเพชรเม็ดนั้น ๆ มีคุณภาพอย่างไร โดยให้ดูถึงความบริสุทธิ์ที่เพชรมี ในหลักสากล สามารถแบ่งออกเป็น 4Cs ใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

· Clarity (ความบริสุทธิ์)

· Carat (น้ำหนักเพชรเทียบเป็นกะรัต)

· Color (สีของเพชร)

· Cut (รูปแบบและทรงการเจียระไน)

ระดับความบริสุทธิ์ (Clarity)
การจำแนกความบริสุทธิ์ของเพชร สามารถจำแนกได้ตามหลักสากล ดังนี้

1.Flawless (FL) - เป็นเพชรชั้นยอดน้ำงามที่สุด ไม่มีตำหนิหรือมลทินใดๆในทั้งเนื้อเพชรและผิวของเพชร

2.Internal Flawless (IF) - เป็นเพชรชั้นยอดที่ไม่มีตำหนิภายในเนื้อเพชรเลย

3.Very Very Small Inclusion (VVS1 / VVS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรให้เห็นได้น้อยมากๆ อาจจะต้องใช้กล้องชนิดพิเศษส่องจึงเห็น จำแนกออกเป็นระดับ 1 และ 2 ตามลำดับ หากตำหนิน้อยมากจะใช้ VVS1 หากตำหนิที่สามารถเห็นได้ชัดมากขึ้นจะใช้ VVS2

4.Very Small Inclusion (VS1 / VS2) - เป็นระดับของเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรในระดับที่ต้องใช้กล้องชนิดพิเศษส่องดูจึงเห็น แต่โดยทั่วไปแล้วจะสามารถเห็นได้ชัดเจนมากกว่าระดับ VVS และอาจมีสีต่างๆในเนื้อของมลทินที่สามารถมองเห็นได้

5.Small Inclusion (SI1 / SI2) - เป็นระดับของมลทินที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมีขนาดที่เล็กอาจจะต้องสังเกต หรือใช้กระดาษขาวทาบและมองกับแสงไฟจึงเห็นชัดขึ้น ในระดับสายตาของผู้ยังไม่ชำนาญการ จะต้องใช้เวลานานในการสังเกต

6.Inclusion (I1 / I2 / I3) - เป็นระดับมลทินที่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีเยอะมาก จนทำให้สังเกตได้เยอะ

กะรัต (Carat)
น้ำหนักซึ่งเป็นมาตรฐานในการวัดน้ำหนักของอัญมณี ซึ่งเทียบกับมาตราเมตริกได้ 0.2 กรัม ทั้งนี้ มาตรน้ำหนักกะรัตนี้ สามารถวัดระดับความบริสุทธิ์ของทองคำได้อีกด้วย ซึ่งทองคำ 24 กะรัตมีค่าความบริสุทธิ์ 100%

ที่มาของคำว่ากะรัต มาจากเมล็ดของผล การัต ซึ่งเมล็ดของผลชนิดนี้จะมีน้ำหนักเท่ากันทุกเมล็ด ซึ่งในสมัยโบราณนิยมใช้กันมาก เพราะไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการวัด จึงนำเอาเมล็ดจากผลการัต มาเป็นหน่วยในการวัดน้ำหนักของอัญมณี

สี (Color)
การจำแนกเฉดสีของเพชร สามารถเรียงจาก D ไปจนถึง Z ซึ่งหากแทนด้วยอักษร D จะหมายถึง มีความขาวใส สะอาดมากที่สุด หรือที่ทุกคนคุ้นเคยว่าน้ำ 100 ส่วน E ก็คือ น้ำ 99 ส่วนเฉดสีอื่นๆ จะไล่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงตัวอักษร Z ที่จะเป็นสีเหลืองสด และถูกแยกออกเป็นเฉดสีเพชรแฟนซี

การจำแนกสีของเพชร จะแยกเฉพาะโทนสี ขาว และเหลืองเท่านั้น หากแยกออกไปจากนี้จะเป็นรูปแบบเพชรแฟนซี ซึ่งจะมีสีสันสดใสและแปลกตาออกไป

Cut (รูปแบบและทรงการเจียระไน)

มีการเจียระไนเพชรเป็นรูปทรงต่าง ๆ มากมาย ทั้งทรงกลม, สี่เหลี่ยม, หัวใจ, หยดน้ำ เป็นต้น (สามารถดูเพิ่มเติมได้จากรูปข้างบนนะคะ) ที่นิยมที่สุดคือทรงกลม หรือ Round Brilliant Cut

ก่อนที่จะซื้อเพชรก็ควรจะคำนึงถึง 4C ที่กล่าวมาข้างต้นนะคะ เพื่อที่จะได้เพชรที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับราคา แถมยังมีประโยชน์ในการอ่านใบรับประกัน หรือ Certification ของเพชรอีกด้วย TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

มารู้จัก K-gold กัน

เขียนโดย Admin 1 ความคิดเห็น

"ทองเค" มีที่มาจากคำว่า karatgold หรือเรียกสั้น ๆ ว่า k-gold

แต่พอมาแปลงเป็นภาษาไทยก็เรียกว่าทองเคอย่างที่ทราบค่ะ

เครื่องประดับทองเคนั้นส่วนใหญ่จะเป็น 18เค คนที่คุ้นเคยหรือ

เคยซื้อทองเคมาใส่คงจะทราบดีว่า 18 เค เทียบเท่ากับ "750"

หรือ 75%นั่นเอง และเมื่อเทียบทองเคกับเปอร์เซนต์ทองใน

ประเทศไทยก็จะเปรียบเทียบได้ดังนี้

ทอง 24เค เทียบเท่ากับ ทอง 99.99%
ทอง 21เค เทียบเท่ากับ ทอง 87.50%
ทอง 18เค เทียบเท่ากับ ทอง 75.00%
ทอง 14เค เทียบเท่ากับ ทอง 58.33% (บางที่อาจบอกว่า 58.5% ก็ได้เหมือนกันค่ะ)
ทอง 10เค เทียบเท่ากับ ทอง 41.67%
ทอง 9เค เทียบเท่ากับ ทอง 37.50%
สำหรับทองรูปพรรณในบ้านเรา ทาง สคบ. มีข้อกำหนดให้

มีความบริสุทธิ์ 96.5% ซึ่งจะไม่ตรงกับจำนวนเต็มของเคใด ๆ เลย

นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า "ทองเค"
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

Jewelry ประจำวัน!!!

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น

ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย คงไม่พ้นสีแดงแรงฤทธิ์ เป็นแน่แท้ และสำหรับเครื่องประดับที่เหมาะกับคนเกิดวันอาทิตย์ ได้แก่.. โกเมน และเพทาย (Garnet and Zircon)

ผู้ที่เกิดวันจันทร์ เหมาะกับเครื่องประดับมุก และเพชร และเนื่องด้วยสีประจำวันจันทร์คือสีเหลือง จึงเป็นสีที่เหมาะสมสำหรับเสื้อผ้าของผู้ที่เกิดวันจันทร์ คือ โทนสีครีมและเหลือง

ผู้ที่เกิดวันอังคาร เครื่องประดับที่ช่วยเสริมราศีของคนที่เกิดวันอังคารได้แก่ โทแพส (Topaz) และสีสันของเสื้อผ้าได้แก่ สีชมพู

ผู้ที่เกิดวันพุธ เป็นวันแห่งสีเขียวอย่างแท้จริง เพราะว่าทั้งเครื่องประดับ และเสื้อผ้าที่เหมาะจะสวมใส่ นั้นล้วนเหมาะกับสีเขียว โดยเฉพาะเครื่องประดับที่เหมาะกับผู้ที่เกิดวันพุธ ควรเป็นสีเขียวเป็นหลัก เช่นมรกต , Chalcedony สีเขียว , ฯลฯ ที่มีสีเขียว เป็นต้น เรียกได้ว่า จะให้เป็นมนุษย์เขียวกันให้ได้เลยเชียว....

ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี เครื่องประดับที่เหมาะกับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดีได้แก่ เครื่องประดับที่ประกอบด้วย พลอยตาแมว (Cat's eye Chrysoberyl ) และสีสันของเสื้อผ้า ควรใส่ในโทนสีส้ม เป็นหลัก

ผู้ที่เกิดวันศุกร์ เครื่องประดับที่เหมาะกับคนเกิดวันศุกร์ ได้แก่เครื่องประดับที่ทำด้วยมุกและเพชร (เหมือนวันจันทร์เลย) และสีสันของเสื้อผ้าที่เหมาะสมนั้น คือ สีฟ้า หรือ โทนน้ำเงินเข้มก็ได้...

ผู้ที่เกิดวันเสาร์ สีประจำวันเสาร์คือสี ม่วงหรือสีดำ ดังนั้น ควรใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในโทนนี้ เพื่อเสริมราศี สำหรับเครื่องประดับที่เหมาะกับราศีเกิดนั้น ได้แก่ สปิแนล (Spinel) และทับทิม ( Ruby ) เรียกได้ว่า เหมาะกับของสวย ๆ เลย TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

Tip เล็กๆกับ ''ทอง''

เขียนโดย Admin 8 ความคิดเห็น
มาเรียนรู้วิธีการใช้งานหรือการดูแลที่ถูกต้องง่ายๆ กันครับ ผมพยายามรวบรวมประเด็น เกร็ดเล็กเกล็ดน้อย ที่ผมแนะนำลูกค้าบ่อยๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ บางประเด็นก็อาจจะง่ายๆ แต่มองข้ามกันไปก็มี บางประเด็นก็เป็นเรื่องชวนปวดหัวครับ กับการอธิบายให้ลูกค้าขึ้สงสัยให้เข้าใจ

สร้อยดำจังเลย ทองไม่ดีหรือเปล่า


ลูกค้าก่อนจะโทษว่าตัวเองไม่รู้จักการดูแลรักษา มักโทษร้านทองก่อนว่า สงสัยจะเอาทองเปอร์เซนต์ไม่ดีให้ ผมมักจะถามลูกค้าว่า คุณซื้อเสื้อผ้าใส่มันทุกวันโดยไม่ซักบ้างไหม ทำนองเดียวกัน สร้อยที่คุณสวมใส่ ถ้าคุณไม่ทำความสะอาดมันบ้าง คราบสกปรกมันก็หมักหมมอยู่แถวนั้นแหละ อย่าไปคิดว่า ตัวเราเป็นคนสะอาดสะอ้าน ลองสะอาดแบบใส่เสื้อแล้วไม่ซักดูสักเดือนสิครับ แหะๆ หลังจากแขวะลูกค้าพอหอมปากหอมคอ โทษฐานที่มากล่าวหา ผมก็แนะนำวิธีง่ายๆในการดูแลทำความสะอาดสร้อยทองคำ ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆที่มีอยู่ที่บ้านนั่นแหละ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ( หรือแฟ๊บหรือผงซักฟอกก็พอได้) แปรงสีฟันเก่าๆ สักอัน
1. ถ้าลวดลายไม่ซับซ้อนซอกซอนอะไรมาก ก็แปรงธรรมดากับน้ำยาล้างจาน แล้วตามด้วยน้ำเปล่าสักรอบ ก็เรียบร้อยครับ
2. หรือถ้าเป็นลายโปร่งหรือลวดลายที่แปรงถึงยาก
2.1 อาจใช้ต้มเอาเลย เอาสร้อย ลงหม้อ หรือ ถ้วยโลหะเล็กๆใส่น้ำพอท่วมสร้อย น้ำยาล้างจานนิดหน่อยก็พอ เยอะไปเดี๋ยวฟองล้น ต้มให้เดือดนานจนพอใจ อย่าถึงกับน้ำแห้งหมดล่ะครับ
2.2 หรือถ้ามีโซดาไฟ อาจใช้โซดาไฟแทน โดยแค่แช่สร้อยทิ้งไว้สักคืน ก็สะอาดดี(ถึงดีกว่า) คำเตือน โซดาไฟต้องใช้อย่างระมัดระวังนะครับ
2.3 ต้มน้ำเปล่า เพื่อขจัดน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานหรือน้ำโซดาไฟ ที่อาจตกค้างอยู่ตามซอกให้หมดไป
2.4 เอาแปรงปัดๆผิวงาน ขณะยังเปียกน้ำ ตามซอกที่พอจะเข้าถึงอีกที
2.5 หาไดร์เป่าผม มาจัดการเป่าจนกว่าจะแน่ใจว่า ไม่มีน้ำตกค้างตามซอก ลายที่มีน้ำขังแล้วออกยากๆ เช่น ลายโปร่งยักษ์ๆทั้งหลาย เช่น ลายทาโร่ยอดฮิต เป็นต้น อาจต้องใช้เวลาเป่านานหน่อย
การต้ม ควรใช้กับรูปพรรณทองล้วนๆ ถ้าอย่างอื่นปน เช่นสีลงยา หรือ พลอย คงเป็นพิจารณาความเหมาะสมอีกทีนะครับ


เทคนิคการถนอมตะขอสร้อย


หลายท่านที่ชอบใส่สร้อยเส้นสั้นๆแล้วชอบถอดเข้าถอดออก มักจะมีปัญหาตะขอเสียรูปทรง ตะขอหัก แล้วก็ต้องมาเสียตังค์เปลี่ยนตะขอ หรือบางคนเกรงใจ กลัวร้านทองรวยช้า เปลี่ยนซะทั้งเส้น (ฮิฮิ หวาน!) แหม ก่อนจะเสียตังค์ มายืดอายุการใช้งานตะขอกันดีกว่า
เทคนิคง่ายๆ ที่อาจมองข้ามกัน โดยมากการเปิดตะขอ มักจะแสดงพลังกันเต็มที่ ง้างกางออกไปด้านข้าง (บางคนเล่นเอาฟันงัดก็มี) โดยเฉพาะตะขอสร้อยเส้นใหญ่ๆ ตัวไหนหนาหน่อย พาลหาว่าทองไม่ดีไปซะอีก
ผมแนะนำวิธีง่ายๆ ให้ใช้ปลายนิ้ว ย้ำว่าปลายนิ้วนะครับ ไม่ใช่ปลายเล็บ จับตะขอบิดเอียงไปด้านหน้า หรือ หลัง แค่พอให้ขยับห่วงของปลายสร้อยออกได้ก็พอ การบิดแบบนี้ ใช้แรงน้อยกว่า ตะขอไม่หักเร็ว และไม่เสียรูปง่ายครับ เพียงเท่านี้ คุณก็มีตังค์เหลือไว้เติมน้ำมันหลายลิตร



ต่างหูแป้นหลวม กำไลแบบเปิดได้ ใช้นานๆแล้วล็อคไม่อยู่

แป้นต่างหู ปกติเมื่อใช้งานไปสักพัก มันจะหลวม วิธีการก็ง่ายๆครับ ถอดมันออกมา แล้วก็บีบด้วยปลายนิ้วให้มันชิดกัน แล้วก็ใส่กลับเข้าไปดู ว่าแน่นขึ้นไหม ปกติ ถ้าไม่เสียรูปไปมาก ก็จะแน่นขึ้นแน่นอนครับ



ส่วนกำไลเปิดปิด เมื่อใช้งานไปสักพัก เดือยมันจะตก ลองหาปลายเข็มขนาดพอเหมาะแหย่ตรงๆ เข้าไปตามรูปครับ เพื่อให้แหนบสปริงมันสูงขึ้น เท่านี้ ก็จะแน่นอย่างกับตอนซื้อใหม่ ทั้งนี้ กำไลต้องไม่เบี้ยวนะครับ ถ้าเบี้ยว คงต้องลองดัดเบาๆให้เข้ารูป หรือ ไม่อยากเสี่ยง ก็ใช้บริการทางร้านทองครับ



สร้อยบุบหรือฉีก


อันนี้ไม่มีวิธีแก้หรอกครับ คงต้องให้ทางร้านทำให้(ถ้าทำได้นะ) แต่จะปรับความเข้าใจของลูกค้าว่า สร้อยทองคำรูปพรรณ มันไม่ได้แข็งแรงอย่างที่หลายๆคนคิด ต้องจับหรือใช้งานมันอย่าทะนุถนอมครับ ทองคำเป็นโลหะที่อ่อน สามารถทำ รูปพรรณได้ง่ายกว่าโลหะชนิดอื่นๆ สมัยก่อนทองรูปพรรณมีแต่ลายตันๆ การใช้งานสมบุกสมบันก็ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน ด้วยราคาทองคำที่แพงขึ้นกับแพงขึ้น + มันสมอง สองมือช่าง ก็รังสรรค์ทองคำเส้นใหญ่ๆ ราคาเบาๆ สำหรับคน กระเป๋าไม่หนัก ให้ใส่แบบเห็นกันชัดๆ ไม่ต้องทนใส่สร้อยเท่าหนวดกุ้งอีกต่อไป
ลูกค้าเดินเข้าร้านทองเกือบทุกรายก็ว่าได้ครับ บอกกับทางร้านว่า "ขอลายตันๆนะ" แต่เกือบทุกรายเช่นกันครับ เลือกลายที่เตะตาที่สุด คือใหญ่ที่สุดนั่นแหละ กลับไป ผลที่ตามมาคือ สร้อยบุบ สร้อยฉีก สร้อยขาด ชำรุดง่ายมากๆ จำเลยก็เป็นร้านทองตามเคย (ช่างไม่ยักโดนแฮะ)
เมื่อรักจะใส่สร้อยโปร่ง ลองมาฟังคำแนะนำ เพื่อยืดอายุการใช้งานของมันครับ
- อันดับแรกเลย อย่าคิดว่า ทองมันแข็งครับ บางคนขอลองกดดูสักหน่อย พอบุบแล้วก็ตกใจ แถมบางทีแก้ไม่ได้เสียด้วย
- บริเวณหัวจรวด หรือ ห่วงร้อยตะขอ เป็นส่วนที่บุบ หัก งอ ฉีก ชำรุดบ่อยที่สุดเพราะความไม่รู้ของผู้สวมใส่เองเลยครับ บางทีจับหัวจรวดงัดเพื่อเปิดตะขอ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง การเปิดตะขอ ให้จับที่ตะขอบิดเลยครับ อย่าเอาส่วนของสร้อยงัดเด็ดขาด
- อย่าห้อยจี้หนักเกินไป ควรดูขนาดที่เหมาะสมครับ สร้อยโปร่งจะสึกและขาดเร็วมาก ถ้าจี้มีน้ำหนักถ่วงมากเกินไป
- สร้อยติดขัดกัน อย่าใช้แรงดึงให้มันคลาย ค่อยๆจับคลายออกมาอย่างใจเย็นๆครับ ห้ามใช้กำลังเด็ดขาด ว่างั้น!!!


สารบางอย่าง ควรหลีกเลี่ยง
- อันแรก ผมไม่แน่ใจว่ามีสารอะไรบ้าง ประเภท น้ำหอม หรือ น้ำยาทำผม อะไรพวกนี้แหละครับ บางครั้งทำให้ทองเปลี่ยนสีไปออกแดงๆแปลกๆ ใครทราบว่าเป็นน้ำยาตัวไหนที่ชัดเจนก็แนะนำมาได้ครับ
- สารปรอท อันนี้ตัวสำคัญ เคยมีบทความเรื่องนี้แล้ว ลองไปหาอ่านได้ครับ คงไม่กล่าวถึง

ทองรูปพรรณใช้ร่วมกับทองหุ้ม, เงิน, นาค

- จี้ทองหุ้ม ห้อยกับ สร้อยคอทองคำ แล้วทำให้ทองตรงร่องตะขอสร้อยส่วนที่สัมผัสกับจี้ทองหุ้มนั้นคล้ำหรือดำ นั่นน่าจะเป็นเพราะว่า โลหะอื่นเช่นทองเหลือง,สนิมทองเหลือง ซึ่งสีมันคล้ำกว่าทอง และอาจจะแถมด้วยขี้ไคลคนใส่นั่นแหละ เคลือบลงไปบนผิวทองคำ ทำให้ดูคล้ำได้ สังเกตว่า ถ้าจี้เป็นทอง 90% ก็เป็นน้อยลง และ 96.5% ด้วยกันก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
- ส่วนกรณีเงินใส่คู่กับทองคำ เช่น แหวนเงินกับแหวนทอง หรือ จี้เงินสร้อยทอง หรือ จี้ทองสร้อยเงิน ค่อนข้างจะเห็นชัดเจน เพราะเงินเป็นโลหะที่อ่อนเช่นกันกับทอง ถึงแม้ว่าจะแข็งกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีบางส่วนสามารถสึกไปติดบนผิวทองคำได้ สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ากับเจ้าของร้านทอง มาอธิบายลูกค้าขี้สงสัยได้ไม่น้อย
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

การแพ้ ''ทอง''

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น



สาวๆทั้งหลาย คงเคยประสบปัญหา การใส่ต่างหูแล้วเกิดอาการแพ้ คัน บวม อักเสบ กันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย บางรายแพ้แต่อยากสวย จำต้องทนกับการใส่มัน เพื่อให้อินเทรนด์ หรือ บางรายไม่อยากทน ก็หนีไปเล่นของแท้ หรือไม่ก็ไม่ใส่มันซะเลย

ผมขายทองหุ้มประเภทต่างหู จี้ มาก็หลายปี สำหรับลูกค้าทุนน้อย หรือบางคนเบื่อง่ายชอบเปลี่ยนบ่อย สมัยก่อนลูกค้าบางรายใส่แล้วเกิดอาการคัน บางรายก็ไม่เป็น หรือ เป็นบ้างนิดหน่อย แต่ ปัจจุบัน ยุคทองแพงระดับเงินหมื่นแล้ว ไฉนทองหุ้ม ที่ราคาแพงขยับขึ้นไปตาม แต่คุณภาพดันสวนทางกัน ลูกค้าบ่นกันมากขึ้น จะว่าลูกค้าผิวบางลงคงไม่ใช่ บางคนสมัยก่อนก็ไม่เห็นแพ้แต่เดี๋ยวนี้กลับแพ้ สอบถามผู้ผลิต ก็ยืนยันว่า คุณภาพคับแก้วเหมือนเดิม ลูกค้าคิดมากไปเอง (รึเปล่า)
ไม่เป็นไร สำหรับเมืองไทยแล้ว ผมว่าการผลิตคงยังไม่มีมาตรฐาน คงจะหวังพึ่งอะไรไม่ได้ เรามาหาสาเหตุกันดีกว่า
ปกติอาการแพ้โลหะ สามารถเกิดขึ้นได้กับโลหะหลายชนิด เท่าที่ทราบ น่าจะมีเพียง ทอง 99.99% กับ เสตนเลสชนิดที่ผลิตเพื่อใช้ในวงการศัลยกรรม ที่ไม่น่าจะมีคนแพ้เลย แต่ตัวการสำคัญที่ตกเป็นจำเลยของพวกเรางานนี้ ขอยกให้ นิกเกิลเป็นพระเอกครับ มีประชากรถึงประมาณ 10-20% พบว่ามีการแพ้เจ้านิกเกิลตัวนี้
อาการแพ้ มักเกิดโดยที่จะต้องเคยสัมผัสถูกสารแพ้มาอย่างน้อยครั้งหนึ่งก่อน แล้วร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา เมื่อสัมผัสซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ การสัมผัส ครั้งแรกกับครั้งหลัง อาจห่างกันเป็นวัน ๆ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้ โลหะที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เช่น นิกเกิล โครเมียม โคบอลด์ เงิน ปรอท

เรามาทำความรู้จักเจ้านิกเกิลสักเล็กน้อยก่อนครับ กว่า 65% ของการใช้นิกเกิลในโลกตะวันตกนั้นเป็นการใช้ทำสเตนเลสสตีล ,12% ใช้ในการทำซูเปอร์อัลลอยด์ อีก 23%เป็นการใช้ทำโลหะอัลลอยด์ ถ่านชาร์จ ทำเหรียญ ชุบโลหะ ประเทศที่บริโภคนิเกิลมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น ซึ่งใช้ 169,600 ตันต่อปี(ข้อมูลปี 2005)
ในวงการเครื่องประดับ นิกเกิลจะถูกใช้ชุบรองพื้นก่อนนำชิ้นงานไปชุบหรือเคลือบด้วยทอง เงิน หรือ ทองขาว(โรเดียม) เพื่อทำต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ นาฬิกาข้อมือ แหวน และจี้ เพราะความที่มันเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี ทำให้ประหยัดน้ำยาชุบได้มาก ชิ้นงานสวยโดยไม่ต้องชุบหนา จริงๆ ผมได้ยินมาตั้งนานแล้วว่า เค้าเลิกใช้นิกเกิลแล้ว (จากคำบอกเล่าของผู้ผลิต) แต่จะให้เชื่อได้ยังไง ในเมื่อยังมีคนแพ้อยู่มาก ยิ่งปัจจุบันทองแพงขนาดนี้ ชุบบางได้เท่าไหร่ ยิ่งประหยัดต้นทุนเท่านั้น จริงไหม ท่านผู้ชม

ประเทศต่างๆในยุโรปและอเมริกากำลังตื่นกลัวต่อพิษภัยของนิกเกิลที่อยู่ในเครื่องประดับ โดยกำหนดมาตรฐานของนิกเกิลในเครื่องประดับ (Offiicial Journal of the European Communities:L 188) ไว้ดังนี้
1. เครื่องประดับที่มีก้านแทงสู่เนื้อเยื่อของร่างกาย เช่น ก้านต่างหู กำหนดให้มีนิกเกิลได้ไม่เกินร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนัก
2. เครื่องประดับที่สัมผัสกับบริเวณผิวหนังส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ นาฬิกาข้อมือ แหวน ต่างหู กระดุม ซิป เครื่องหมาย กำหนดให้มีปริมาณนิกเกิลที่ละลายออกมาไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัมต่อพื้นที่ผิว 1 ตารางเซนติเมตร ใน 1 สัปดาห์ (0.5ug/cm2/week)
จากเอกสารทางวิชาการได้ระบุถึงพิษภัยของนิกเกิลโดยเฉพาะก้านต่างหู ที่ชุบ หรือ เคลือบด้วยนิกเกิลในปริมาณที่มากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดว่า
จะทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้น คือเมื่อแทงก้านต่างหูเข้าที่ใบหูแล้วเกิดแผล ร่างกายจะสร้างกลไกในการขับของเหลวจำพวกพลาสมา (plasma) และ แอนติบอดี (antibody) มายังบริเวณดังกล่าว เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดมากับก้านต่างหู และซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่ถูกทำลายนี้
ในพลาสมาและในแอนติบอดีมีสารประกอบของไนโตรเจน ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับนิเกิลที่เคลือบบนก้านต่างหู ทำให้นิกเกิลละลายออกมาและเข้าสู่เซลล์ของร่างกายบริเวณนั้น ทำให้ระบบสร้างภูมิคุ้มกันถูกทำลาย มีผลทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดอาการบวม อักเสบ เกิดผื่นคัน เป็นแผลพุพอง เน่าเปื่อย ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อรุกลามถึงแก่ชีวิตได้
นอกจากนี้นิกเกิลยังสามารถละลายได้ด้วยเหงื่อและซึมสู่ร่างกายของคนเราได้ทางผิวหนัง
เดี๋ยวนี้เมื่องนอกตื่นตัวกับเครื่องประดับประเภท Nickel-Free เมืองไทยเองก็มีโรงงานที่ทำตามมาตรฐานยุโรป ส่งไปขายเช่นกัน และคิดว่า ไม่น่าจะมีขายอยู่เมืองไทย เพราะเท่าที่ทราบคือแพงใกล้เคียงของแท้เลย คนไทยเจอราคาแบบนี้ ไม่ต้องถามครับ คงหนีไปใช้ของแท้แน่นอน
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

''ทอง'' ปะทะ ปรอท

เขียนโดย Admin 5 ความคิดเห็น
ร้านทอง ตกเป็นจำเลยบ่อยครั้ง ว่าขายทองผสม ขายทองไม่เต็ม ขายทองชุบให้ โดยสาเหตุหนึ่งที่ถือว่าเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียวคือ ปรอท สารที่จัดว่าเป็นอันตรายแต่ยังคงมีใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่มาก ลองมาทำความรู้จักมันเพิ่มดีไหมครับ..

ธาตุ ปรอท เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ได้มีการบันทึกไว้ว่าอารีสโตเติล (Aristotle) รู้จักปรอทเมื่อ 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปรอทมีชื่อภาษาอังกฤษว่า mercury แต่มีสัญญลักษณ์ Hg ซึ่งตั้งขึ้นโดย Berzelius มาจากคำลาติน hydrargyrum ซึ่งมีความหมายว่าเงินเหลว (liquid silver) เพราะลักษณะภายนอกเหมือนโลหะเงิน แต่สามารถไหลหรือกลิ้งไปมาได้ทำนองเดียวกับของเหลว ต่อมาได้มีการเรียกว่า "quicksilver" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน คนโบราณรู้จักนำปรอทไปชุบหรือเคลือบผิวโลหะต่าง ๆ เช่น ทองแดง ทองคำ ในสมัยกลางนักเล่นแร่แปรธาตุ (alchemist) ได้พยายามหาวิธีเปลี่ยนปรอทให้เป็นทองคำ (ในตารางธาตุ ทองเป็นธาตุลำดับที่ 79 ส่วนปรอท เป็นธาตุลำดับที่ 80 ติดกันเลยครับ)

ปรอท ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการทำเหมืองเลยทีเดียว โดยใช้ปรอทในการเอาทองออกมาจากแร่ที่มีทองอยู่ ปรอทจะเปลี่ยนเป็นอะมัลกัม (amalgam) รวมกับทอง (มีความคล้ายคลึงกับอะมัลกัมที่มีปรอทและเงินผสมอยู่ที่ใช้อุดฟัน) เพื่อจะแยกเอาทองออกจากส่วนประกอบอื่นๆ เช่นหินและดิน จากนั้นทองก็จะถูกเอาออกมาจากอะมัลกัมโดยการต้มเพื่อแยกปรอทออกมา ปรอทจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่โดยทำภายในตู้ที่ปิดอย่างดี

งานเครื่องถมทองของไทย ก็ใช้ปรอทในการลงถมเช่นกัน โดยรีดทองคำบริสุทธิ์ให้เป็นแผ่นบาง ตัดเป็นฝอยเล็ก ๆ และบดจนเป็นผง ผสมกับปรอท กวนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เรียกว่า "ทองเปียก" แล้วนำวัตถุที่จะแตะทองมาทำความสะอาดให้หมดความเค็ม ด้วยน้ำส้มมะขามหรือน้ำมะนาว เช็ดทำความสะอาดแล้ว ตะทองบริเวณลวดลายที่ต้องการตกแต่ง เมื่อถูกความร้อนปรอทจะระเหย เหลือแต่ทองคำที่แตะแต่งไว้ตามลาย ต้องทำซ้ำกันเช่นนี้หลายครั้ง จนได้ความหนาตามต้องการ

งานกะไหล่ หมายถึง เคลือบภาชนะและของใช้ต่าง ๆ ด้วยทองหรือเงิน ด้วยวิธีการใช้ปรอททา ทำให้ร้อนแล้วจึงปิดแผ่นทองหรือแผ่นเงิน กะไหล่ เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ว่า kalayi. ปัจจุบันช่างทำเครื่องใช้ที่เป็นเงินเป็นทองมักใช้วิธีชุบแทนกะไหล่ เพราะทำได้เร็วกว่าถูกกว่า แต่การชุบนั้นทองจะเคลือบผิวบางมาก ผิวทองจึงไม่ติดทนเท่ากะไหล่. คำว่า กะไหล่ บางคนเรียกว่า กาไหล่ หรือ ก้าไหล่ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ใช้ว่า กะไหล่ แต่ก็เก็บคำว่า กาไหล่ ไว้ด้วย) วิธีการทำก็คล้ายวิธีการทำทองเปียกโดยใช้ปรอทเช่นเดียวกัน แต่ใช้วิธีการชุบ แทนการทา

การเคี่ยวทองรวมกับปรอท ไม่ใช่เรื่องยากเลย แค่นำผงทองลงไปคน อาจใช้ไฟอ่อนช่วย ก็สามารถทำให้ทองรวมตัวกับปรอทได้แล้ว เช่นนี้เอง ปรอทจึงถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการทำทองตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะการรวมตัวกันที่ง่าย ดังนั้น เมื่อทองรูปพรรณที่เราสวมใส่ ไปถูกกับสารที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีส่วนประกอบของสารปรอท เราจึงพบทองกลายเป็นสีขาว กลายเป็นที่มาของความเข้าใจผิดนั่นเอง

มาดูกันว่า ชีวิตประจำวันเราเจออะไรบ้างที่มีสารปรอท สำหรับร้านทองเอง มักเจอมากที่สุดคือพวกพยาบาลกับร้านทำฟัน


ร้านทำฟันนั้น ตัวหลักที่ถูกใช้งานทุกวัน และมีส่วนผสมของปรอทอย่างมากคือ อะมัลกัม (amalgam) ที่ใช้อุดฟันนั่นเอง โดยมีส่วนผสมประมาณ ถึง 50% ที่เหลือคือ โลหะเงินเป็นหลัก ตามด้วย ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี ตามแต่สูตรของผู้ผลิตจะคิดค้นกันมา
เมื่อทองที่สวมใส่ไปทำฟันด้วย( ไม่รู้ว่าจะใส่ไปทำไม) โดนน้ำกรอฟันที่อุด ซึ่งวัสดุอุดฟันหรือ อะมัลกัม นั่นเอง กระเด็นใส่ ปรอทที่ปนเปื้อนมากับน้ำกรอฟัน ก็เหมือนพบเนื้อคู่ โดดเข้าจับติดหนับไม่ปล่อย เห็นเป็นดวงๆ ตามรอยที่กระเด็นมา

ยารักษาฝ้าบางชนิด ที่ทำให้หน้าขาววอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที มักมีส่วนผสมของสารปรอท ซึ่งสามารถใช้ได้ผลจริง แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนัง และในร่างกายได้ สำหรับผมเอง ยังไม่เคยเจอกรณีทองโดนยารักษาฝ้าครับ แต่คิดว่า ถ้าโดนก็คงเป็นเรื่องเช่นกัน

ยาแดง หรือ เมอร์คิวโรโครม (mercurochrome) ถือเป็นยาสามัญคู่บ้านมาช้านาน ปัจจุบันลดความนิยมลง หันมาใช้ตัวอื่นที่ได้ผลเช่นกันแต่ไม่แสบ ไม่เป็นอันตรายเท่า เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (เบทาดีน)
ยาแดง ใช้ทาพวกแผลสดที่เป็นถลอกตื้นๆไม่ลึก เพราะว่ามันจะทำให้เกิดสะเก็ดแผลแห้งเร็วคลุมแผลไว้ไม่ให้เชื้อโรคเข้าแผล ไม่ควรทาลงบนแผลโดยตรง เพราะกลายเป็นแผลจะหายยากและอาจเป็นอันตรายจากสารปรอทแทน
ยาแดงใช้สารปรอทเป็นหลัก ซึ่งมีผลในการฆ่าเชื้อโรคเป็นอย่างดี ถ้าใครเคยสังเกต หลังการทายาแดง จะเห็นว่า มีเงาสะท้อนให้เห็นชัดเจนเพราะมีโลหะหนักเช่นปรอท เป็นส่วนประกอบในอัตราค่อนข้างสูงนั่นเอง

ทิงเจอร์ใส่แผลสด (merthiolate) ได้ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมานานแล้ว บางทีคุณอาจจะเคยใช้ทาที่บริเวณแผลเพื่อฆ่าเชื้อในตอนเด็กก็เป็นได้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้หันมาใช้ทิงเจอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของปรอทแทนตั้งแต่ปี 1999 แล้ว แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า เมืองไทย น่าจะยังคงใช้กันอยู่

ส่วนตัวผม พยาบาลทั้งที่ทำปรอทแตก และที่ไม่ได้ทำแตก ยังมีวนเวียนมาถาม หรือ แม้กระทั่งมาด่าก่อนก็มี ผมจึงเชื่อว่า ยังคงมีการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของปรอทอยู่ในงานรักษาพยาบาลอย่างแน่นอนครับ
TOP OF PAGE



ป้ายกำกับ:

ซื้อขาย Gold Futures

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น
ทองคำจริง เราคงจะคุ้นเคยกันพอสมควรแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา.. น้ำหนัก.. วิธีการซื้อขาย เพราะกว่าจะมีถึงวันนี้ แต่ละคนคงเคยได้หิ้วมันไปกลับร้านทองมาหลายรอบแล้ว แต่สำหรับ Gold Futures หน้าตามันไม่เหมือนทองคำของจริง การซื้อขายก็ไม่เหมือนกัน บทนี้ เรามาทำความรู้จักมันละเอียดขึ้นสักหน่อยดีมั๊ย


ตลาด Gold Futures เป็นแบบไหน? ผมขอนิยามว่า เป็นตลาดแบบจับแพะชนแกะ หรือการจับคู่เอาผู้ที่อยากจะซื้อมาเจอกับผู้ที่อยากขาย ผ่านระบบคนกลาง โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นใครหรอก Gold Futures จริงๆ เล่นเหมือนๆกับหุ้น โดยทำการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ บ้านเราก็คือ TFEX นี่เอง TFEX จะเป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์การซื้อขาย คอยจัดการดูแลให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาด ปฏิบัติตามสัญญา ตลาดนี้มีลักษณะอีกอย่างที่เรียกว่า zero sum games นะครับ มีคนได้มีคนเสียเท่าๆกันเสมอ

การซื้อขาย Gold Futures เราต้องทำความรู้จักมันเสียก่อนนะครับ อันดับแรกเลย คือช่วงเวลาการซื้อขาย มี 2 ช่วง โดยก่อนหน้าเวลาทำการ 30 นาที จะเปิดให้ส่งคำสั่งเสนอซื้อ เสนอขายเข้าไป โดยยังไม่มีการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้โอกาสนักลงทุน ได้พิจารณาทิศทางการลงทุน ดูว่า จะเล่นไปทางไหนดี
เวลาทำการ: จันทร์-ศุกร์เท่านั้น เสาร์-อาทิตย์หยุด
ช่วงก่อนเปิดตลาดภาคเช้า 9.15 น.- 9.45 น. (ส่งคำสั่งเสนอซื้อ เสนอขาย โดยไม่มีการจับคู่สัญญา)
ช่วงเวลาทำการภาคเช้า 9.45 น. - 12.30 น.
ช่วงก่อนเปิดตลาดภาคบ่าย 14.00 น. - 14.30 น. (ส่งคำสั่งเสนอซื้อ เสนอขาย โดยไม่มีการจับคู่สัญญา)
ช่วงเวลาทำการภาคบ่าย 14.30 น. - 16.55 น.
- กลางคืน ไม่มีการซื้อขายนะครับ ตรงนี้ผมว่าทำให้หลายคนคิด เพราะราคามักสวิงแรงในช่วงกลางคืน ใครจะถือข้ามวันก็ต้องคาดเดาทิศทางดีๆ และผมว่า เมื่อมีการซื้อขายจริง มีโอกาสสูงที่เราอาจจำเป็นต้องถือสัญญาข้ามวันเสียด้วย
- ส่งคำสั่งเสนอซื้อ เสนอขาย โดยไม่มีการจับคู่สัญญา หมายความว่ายังไง? คนเล่นหุ้นคงพอรู้ แต่คนไม่เคยเล่นอาจจะงงเล็กน้อยถึงมากที่สุด มันหมายถึงคุณหรือใครๆ จะส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปก่อน ทุกๆคนที่อยู่ในตลาดจะได้ดู และเห็นทิศทางเริ่มต้น แต่ก็นั่นแหละ ใครจะมั่ว ส่งคำสั่งเข้าไปหลอกล่อคนอื่นในตลาดก็ได้ในช่วงนี้ พอก่อนถึงเวลาทำการจริง ก็ถอนคำสั่งออกไปซะงั้น เราต้องระวังหลงกลเหมือนกัน

ชื่อของสัญญา: Gold Futures เหมือนหุ้นทั่วๆไปที่ต้องมีชื่อ เพื่อใช้อ้างอิงในการซื้อขาย เช่นเดียวกับหุ้นในตลาดหุ้น โดย Gold Futures จะมีรูปแบบดังนี้
GF + Code เดือน + ปี 2 หลัก
เดือนสำหรับ Gold Futures จะใช้เฉพาะเดือนคู่ Code เดือน ได้แก่ G: กุมภาพันธ์ J: เมษายน M: มิถุนายน Q: สิงหาคม V: ตุลาคม Z: ธันวาคม
ตัวอย่าง Code ที่สมบูรณ์แล้ว เช่น
ทองคำสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 จะมี code เป็น GFG09
ทองคำสัญญาเดือนเมษายนปี 2009 จะมี code เป็น GFJ09
ขนาดของสัญญา: หากเราซื้อ 1 สัญญา จะเท่ากับเราซื้อทองคำ 50 บาท และใช้เงินลงทุน ที่เรียกว่า หลักประกัน หรือ margin 10% หรือหมายความว่า หากเราจะซื้อขาย Gold Futures ต้องเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ไว้ประมาณ 75000 บาท (ยังไม่ชัดเจน ล่าสุดได้ยินว่าราว 66500 บาท) จะเห็นว่า ขนาดสัญญา ใหญ่มาก ผมเชื่อว่า ไม่นาน ขนาดสัญญาจะปรับลดลงมาแน่นอน ไม่งั้น ตลาดคงไม่สามารถขยายตัวได้ง่ายนัก ใครจะเข้าเล่นในช่วงแรกๆ หากเป็นรายย่อย อาจต้องทำใจกับความเสี่ยงที่มากเอาการ

ระยะห่างของราคา: 10 บาท หมายความว่า เราสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้แค่หลักสิบ หลักหน่วยส่งไม่ได้ เช่น 14010 ได้ แต่ 14011 ไม่ได้

อายุของสัญญา: Gold Futures ต่างจากทองคำจริง ตรงที่มีอายุนี่แหละครับ โดยวันหมดอายุคือวันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่หมดอายุ เช่นของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 วันที่ 28 ตรงกับวันเสาร์ วันทำการสุดท้ายคือวันศุกร์ที่ 27 ดังนั้น วันหมดอายุของ GFG09 คือวันที่ 26 นั่นเอง หากเราถือจนหมดอายุ สัญญาของเราสิ้นสุดลง และจะได้ราคาตามราคาลอนดอนในภาคเช้า (London A.M. Fixing Price) แต่หากเราต้องการเล่นต่อ เราต้องขายและไปซื้อสัญญาของเดือนถัดไปแทน

ค่าธรรมเนียมหรือค่าคอมมิชชั่น: 450 บาท สำหรับสัญญาที่ 1-5 350 บาท สำหรับสัญญาที่ 6-20 และ 250 บาท สำหรับสัญญาที่ 21 ขึ้นไป แถมด้วย Vat อีก 7% (ปล. ได้ยินว่าล่าสุดปรับไปเป็น 500 บาทแล้ว)

การซื้อขาย
ก่อนอื่นต้องไปสมัครและเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของ TFEX รายใดรายหนึ่งก่อน รวมถึงร้านทองที่เป็น Selling Agent หรือ Introducing Agent ด้วย ก่อนซื้อขาย ควรทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆอีกครั้งนะครับ บางที ผมอาจไม่ได้พูดถึง เพราะกลัวว่า ละเอียดไป คนอ่านเริ่มต้นจะงง เมื่อเปิดบัญชีแล้วก็เริ่มเทรดโดย
- นำเงินเข้าบัญชี เพื่อวางเงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 10% เราอาจใส่ไว้มากกว่านั้นไว้กันเหนียว เพราะหากราคาเปลี่ยนแปลงจนเราขาดทุนและเงินเหลือต่ำกว่าระดับ เงินประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) เราจะถูกเรียกให้เติมเงินเข้าไปให้เต็มจนเท่ากับระดับ Initial Margin อีกครั้ง เรียกเงินก้อนนี้ว่า เงินประกันผันแปร (Variation Margin) หรือเรียกว่า Margin Call นั่นเอง การถูกเรียกเติมเงิน เราต้องทำให้เสร็จ 1 ชั่วโมงก่อนปิดทำการวันถัดไป และต้องระวังการถูก Force close หรือบังคับปิดสัญญาหากราคาทองคำผันผวนมากจน Margin เหลือต่ำกว่า 30% (ของ Initial Margin)
- ส่งคำสั่งซื้อขาย ทำได้ทั้งผ่านเจ้าหน้าที่ หรือผ่านอินเทอร์เนท โดยบางคำสั่งจะไม่สามารถส่งผ่านเนทได้ ต้องผ่านเจ้าหน้าที่เท่านั้น เช่น การส่งคำสั่งซื้อขายที่มากหรือน้อยกว่าราคาปัจจุบันเกิน 5% หรือ การส่งคำสั่งซื้อขายข้ามซีรีส์เดือนที่เรียกว่าคำสั่ง Combo (เป็นการเล่น Spread กินส่วนต่างระหว่างสัญญา 2 ตัว) หรือ คำสั่งซื้อขายเกิน 20 สัญญา
คำสั่งซื้อขายใน Gold Futures สำหรับนักลงทุน น่าจะมี 3 ลักษณะ
หากซื้อ เราจะเรียกว่า Long (จริงๆ คำว่า Long ในภาษาอังกฤษ เขาหมายถึง การส่งคำสั่งจองซื้อ แต่คนไทยเรียกง่ายๆว่าซื้อ ซึ่งง่ายแต่พาสับสนดี)
หากขาย เราเรียกว่า Short (และเช่นกัน คำว่า Short หมายถึงการจองขาย) โดยการขาย เราไม่จำเป็นต้องซื้อก่อน ก็สามารถขายได้ครับ นี่คือข้อดีที่ผมเห็นในตลาด Gold Futures
การเล่น Spread หรือการเลือกซื้อสัญญาเดือนหนึ่ง แต่ไปขายอีกเดือนหนึ่ง อันนี้เป็นการเล่นกับส่วนต่างของราคาของแต่ละเดือน หากเห็นว่าห่างไปหรือแคบไป เราก็สามารถส่งคำสั่ง combo หรือการส่งคำสั่งซื้อและขายออกไปพร้อมกัน วิธีนี้ โบรกเกอร์จะคิด Margin แค่ 1 ใน 4 เท่านั้น เพราะความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อขายปกติ แต่เปลืองค่าคอมครับ เพราะโดนค่าคอมไปกลับ 2 ชุด เท่ากับ 2 เด้งเลย รายละเอียด เทคนิคการเล่นตรงนี้ คงต้องไปศึกษาฝึกปรือกันเองอีกทีนะครับ แค่เล่าให้ฟังว่า มีวิธีเล่นกินส่วนต่างแบบนี้ได้ด้วย
- ทุกๆวัน โบรกเกอร์จะคำนวณกำไรขาดทุน โดยคำนวณจากราคาซื้อขายเฉลี่ย 5 นาทีสุดท้าย เรียกว่า Mark to Market หากกำไร โบรกเกอร์จะนำเงินใส่ให้ในบัญชี เราสามารถเบิกออกมาใช้ได้เลย แต่หากขาดทุน และ Margin เหลือต่ำกว่าระดับ Maintenance Magin เราต้องเติมเงินเข้าไปให้เต็มหรือเกินระดับ Initial Margin ไปก่อน 9 โมงเช้าของอีกวัน ไม่งั้นเราจะ trade ไม่ได้ (ก็มันเต็มวงเงินแล้ว) และภายใน 1 ชั่วโมงก่อนตลาดปิดทำการ หากยังไม่เติมเงิน ก็จะถูก Force close ไป ตรงนี้เป็นจุดที่ผมเห็นว่า สำหรับนักลงทุนระยะกลางหรือยาว อาจต้องคิดนิดนึงครับ ระบบมันบีบให้เราต้องติดตามทุกวัน ทุกเวลา แต่สำหรับคนเล่นสั้นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร
- ปิดสัญญา โดยการส่งคำสั่งด้านตรงข้ามเข้าไป หรือ ปล่อยให้สัญญาหมดอายุ ซึ่งอย่างแรก ก็คิดกำไรขาดทุนจากราคาเปิดสัญญากับราคาปิดสัญญา ส่วนหากรอหมดอายุ ก็คำนวณกำไรขาดทุนจากราคาเปิดสัญญากับราคาที่คำนวณจากตลาดลอนดอนตอนเช้า (London A.M. Fixing Price)



TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

กลไก Gold Futures

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น



เกริ่นกันไว้ในประเด็นกว้างๆ บทนี้ เรามาทำความรู้จักกลไกการทำงานของ Gold Futures ตั้งแต่คอนเซปต์ของมัน และแนวทางปฏิบัติที่ทำให้มันประสบความสำเร็จในการที่จะผูกติดราคามันไว้กับราคาทองคำจริงได้อย่างลงตัวได้ยังไง

มาเริ่มทำความรู้จักกันที่ลักษณะของ Gold Futures คร่าวๆกันก่อน
- Gold Futures เป็นสัญญาจะซื้อจะขายทองคำ มีวันหมดอายุหรือวันสิ้นสุดสัญญา บ้านเราใช้เดือนคู่ คือ ก.พ. เม.ย. มิ.ย. ส.ค. ต.ค. ธ.ค. เป็นเดือนหมดอายุ มีให้เลือกซื้อขายทีละ 3 ซีรีส์ เช่นเดือนนี้เดือนมกราคม จะมีสัญญาเดือน ก.พ เม.ย. และ มิ.ย. ให้เลือกซื้อ ตามสะดวก แต่โดยมาก จะซื้อขายกันกระจุกตัวอยู่ในเดือนใกล้สุด เพราะจะมีสภาพคล่องหรือมีคนเข้ามาซื้อขายกันมากสุดนั่นเอง
- Gold Futures บ้านเรา จะคำนวณราคาอ้างอิงมาจากดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง หรือดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนประกาศนั่นแหละ โดยปัจจุบัน (มค. 52) อัตราดอกเบี้ยคือ 2%
- จากการใช้ดอกเบี้ยคำนวณราคาอ้างอิง เมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญา ราคาของทองคำจะเท่ากับหรือเกือบเท่ากับราคาทองของจริงเสมอ เพราะหากใครถือจนหมดสัญญา ราคาทองคำวันหมดสัญญาจะไม่มีดอกเบี้ยมารวมด้วย เพราะดอกเบี้ยมันคูณด้วย 0 วันนั่นเอง ราคาที่ใช้ในการคำนวณกำไรขาดทุน จะใช้ราคาทอง London A.M. Fixing Price ซึ่งเป็นราคาตามประกาศของลอนดอนในช่วงเช้าเป็นหลัก (ไม่ใช่ราคาตามประกาศสมาคมฯบ้านเรานะครับ)

มีอะไรที่ยืดยาวกว่านี้ แต่เอาไว้พูดเมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูดก็ยังไม่สาย จะได้ไม่งงกัน

ข้อกำหนดที่เขาคิดไว้ ทำให้เกิดสินค้าให้เล่นครั้งละ 4 ตัวพร้อมกันเป็นอย่างน้อย โดยมีราคาต่างกันเล็กน้อยตามเวลาและสถานที่
- 4 รายการแรก คือ ทองคำ spot หรือของจริง ตามด้วย 3 รายการ จากทองคำสัญญาเดือนต่างๆ 3 ซีรีส์ ตามที่บอกไว้ข้างบน
- ทองคำจริง อาจแบ่งย่อยได้อีก เป็นตลาดในประเทศ และต่างประเทศ หากเราเข้าถึงได้

ตารางข้างล่าง แสดงตัวอย่างการคำนวณราคาอ้างอิง สำหรับแต่ละซีรีส์ สมมุติว่า วันนี้วันที่ 1 มค. 52 ราคาทองคำจริง (Realtime) = 14000
ราคาทองคำ Futures = ราคาSpot+(ราคาSpot x อัตราดอกเบี้ย x อายุที่เหลือของสัญญา) โดยดอกเบี้ยเท่ากับ 2%



จะสังเกตว่า ผมใช้คำว่า ราคาอ้างอิง เพราะมันไม่ใช่ราคาจริงที่เกิดขึ้นในตลาด และผมบอกว่า มันคือสินค้าคนละตัวกัน ทำให้การซื้อขายสามารถไปคนละทิศละทางได้ และจุดนี้เองที่จะเกิดการเข้ามาแสวงหากำไรจากส่วนต่างของราคา และมีบุคคลสำคัญในตลาดที่เราเรียกว่า ผู้ค้ากำไร ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า arbitrageur รวมอยู่ด้วย
ที่ผมบอกว่า สำคัญ เพราะ หากปราศจากคนกลุ่มนี้ กลไกราคาจะไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ ราคาทองคำจริง กับ Gold Futures จะไม่มีทางไปด้วยกันได้ครับ

คนกลุ่มนี้ ผมว่า ถ้ามองบ้านเรา อย่างน้อยจะมีกลุ่มผู้ค้าทองคำรายใหญ่ในสมาคมค้าทองคำด้วยแน่นอน เพราะสามารถเข้าถึงตลาดทองคำจริง และ Gold Futures ได้พร้อมกัน และที่สำคัญคือทุนหนา

ผู้ค้ากำไร หรือ arbitrageur นี้ เมื่อเห็นราคา Futures กับของจริง ต่างกันจนสูงมากกว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่ตนต้องเสีย(หรือเสียโอกาสจะได้รับ) ก็จะเข้า Short (ขาย) หรือ Long (ซื้อ) ในตลาดหนึ่ง ขณะที่จะกระทำในทางตรงข้าม ในอีกตลาดหนึ่ง เพื่อกินส่วนต่าง โดยปราศจากความเสี่ยง

ปราศจากความเสี่ยงได้ยังไง?
สมมุติว่า วันนี้วันที่ 1 มค. ราคา spot เท่ากับ 14000 บาท ตามตารางข้างบน แต่ราคาทองคำสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ แทนที่จะเป็น 14047 กลับเป็น 14300 คือราคาสูงเกินจริง

ผู้ค้ากำไร หรือ arbitrageur จะขายหรือ Short สัญญาเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 14300 ขณะเดียวกัน ก็จะซื้อทองคำจริงที่ราคา 14000 ไว้ และถือไว้จนวันสิ้นสุดสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งไม่ว่า ราคาในวันนั้นจะเป็นเท่าไหร่ ผู้ค้ากำไร จะได้ส่วนต่างราคา 300 บาทต่อทองคำ 1 บาทแน่นอน มากกว่าดอกเบี้ย 47 บาท ที่ต้องเสีย(หรือเสียโอกาสได้รับ)
เช่น ราคาทองคำวันสิ้นสุดสัญญาอยู่ที่ 15000 บาท
ทองคำจริง กำไรจากการซื้อไว้ 15000-14000 = 1000 บาท
Gold Futures ขาดทุนจากการ Short ไว้ 15000-14300 = 700 บาท
ผลต่างเท่ากับ กำไร 300 บาท

แต่หากกลับกัน หากราคาทองคำอยู่ที่ 13000 บาท
ทองคำจริง ขาดทุนจากการซื้อไว้ 14000-13000 = 1000 บาท
Gold Futures กำไรจากการ Short ไว้ 14300-13000 = 1300 บาท
ผลต่างเท่ากับกำไร 300 บาทเช่นกัน

และการกระทำเช่นนี้จะเกิดอยู่ตลอด และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ราคายังห่างคุ้มพอที่จะทำ และราคาก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ได้ในที่สุด

ทั้งหมดที่เล่ามา คงพอทำให้พวกเราเข้าใจกลไกราคากันมากขึ้นบ้างนะครับ ว่าทำไม ราคาทองคำ Gold Futures กับทองคำจริงๆ ถึงผูกติดกัน หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันได้ ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรมาเกี่ยวกันสักหน่อย TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

Gold Futures

เขียนโดย Admin 0 ความคิดเห็น




ก่อนจะมีทองคำให้ซื้อขายในตลาดฟิวเจอร์อย่างจริงๆจังๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป เราควรจะมาทำความรู้จักมันกันซะหน่อย ว่ามันคืออะไร มีความเหมือนและต่างจากของจริงยังไงบ้าง โดยเฉพาะท่านที่ยังไม่เคยเล่นหุ้น ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้น น่าจะยังมองไม่เห็นอะไรชัดเจนนัก แม้จะมีหนังสือแนะนำทะยอยออกมา แต่ก็เป็นสาระแบบเป็นหนังสือชี้ชวนบ้าง เป็นทางการไปบ้าง อ่านแล้ว ไม่ค่อยได้สัมผัสตัวตนจริงๆ ของ Gold Futures สักเท่าไหร่

ราคา Gold Futures คือราคาทองคำอนาคตจริงหรือ?
น่าจะตอบว่า ไม่จริงครับ ราคาของมัน มาจากการใช้ราคาของมันในปัจจุบันนี่แหละ บวกกับดอกเบี้ย หรือต้นทุนในการถือครองอื่นๆไปจนหมดเดือนที่กำหนด หรือพูดอีกนัยคือคุณตกลงจองซื้อทองคำในวันนี้ ด้วยเงินที่มีต้นทุน อย่างน้อยก็ดอกเบี้ยล่ะ
ทองคำยังไม่ได้ แต่ตังค์ที่ต้องจ่าย ถูกคำนวณต้นทุนอนาคตเรียบร้อย ผมอยากจะนิยามว่า เป็นทองคำในอนาคตของคุณ ที่คุณจองซื้อมันในวันนี้ แต่มันไม่ได้บอกราคาทองคำในอนาคตให้คุณรู้ ว่างั้น

ซื้อ Gold Futures ต่างอะไรกับทองคำจริงๆบ้าง
ทองคำจริง อยากซื้อเท่าไหร่ก็ซื้อได้ ซื้อแล้วเอามานอนกอดได้ ขาดทุนยิ่งต้องกอดมันไว้นานๆ แต่ซื้อทองคำ Futures จะมีคนมาสะกิดคุณทุกวันว่า วันนี้ กำไรหรือขาดทุน ยิ่งขาดทุน ยิ่งเครียด เพราะจะถูกสะกิดให้เติมเงินเข้าไปในบัญชี หากยังอยากถือไว้

Gold Futures มีข้อกำหนดหลักๆ คือมันเป็นสัญญาจะซื้อ/จะขายทองคำ โดย 1 สัญญาจะเท่ากับ 50 บาท โดยการซื้อ ใช้แค่เงิน 10% เสียเงินค่าคอมมิชชั่นขั้นต้น 450 บาท + Vat 7% หรือ 481.50 บาท ตีมั่วๆง่ายๆ ก็ 500 บาทซะ ไปกลับประมาณ 1000 เท่ากับ 1 บาท คุณมีต้นทุนแล้ว 20 บาท ซึ่งยังถูกกว่าส่วนต่างของราคาสมาคม 5 เท่า (สมาคม 100 บาท)

แปลว่า คุณมีโอกาสในการใช้เงินที่เคยซื้อทองคำได้แค่ 5 บาท มาซื้อทองคำ Gold Futures ได้ถึง 50 บาท และมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าเดิม 10 เท่า พร้อมๆกับส่วนต่างที่น้อยลงไปอีกบาทละ 80 บาท

ข้อดีที่ชัดๆของ Gold Futures ที่ผมเห็น คือโอกาสในการขายก่อน หรือเล่นในตลาดช่วงขาลง กรณีไม่มีของอยู่ในมือ ซึ่งทองคำของจริง หรือ KGOLD หรือ TMBGOLD ไม่สามารถทำได้ ได้แต่รออย่างเดียว

แต่อย่าเพิ่งนอนใจนะครับ นั่นเป็นด้านดีที่ทำให้คนเข้าสู่ตลาดจนลืมด้านไม่ดี คือมันสามารถพาคุณขาดทุนได้เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่าด้วยเหมือนกัน TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ: