กลไก Gold Futures

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เขียนโดย Admin



เกริ่นกันไว้ในประเด็นกว้างๆ บทนี้ เรามาทำความรู้จักกลไกการทำงานของ Gold Futures ตั้งแต่คอนเซปต์ของมัน และแนวทางปฏิบัติที่ทำให้มันประสบความสำเร็จในการที่จะผูกติดราคามันไว้กับราคาทองคำจริงได้อย่างลงตัวได้ยังไง

มาเริ่มทำความรู้จักกันที่ลักษณะของ Gold Futures คร่าวๆกันก่อน
- Gold Futures เป็นสัญญาจะซื้อจะขายทองคำ มีวันหมดอายุหรือวันสิ้นสุดสัญญา บ้านเราใช้เดือนคู่ คือ ก.พ. เม.ย. มิ.ย. ส.ค. ต.ค. ธ.ค. เป็นเดือนหมดอายุ มีให้เลือกซื้อขายทีละ 3 ซีรีส์ เช่นเดือนนี้เดือนมกราคม จะมีสัญญาเดือน ก.พ เม.ย. และ มิ.ย. ให้เลือกซื้อ ตามสะดวก แต่โดยมาก จะซื้อขายกันกระจุกตัวอยู่ในเดือนใกล้สุด เพราะจะมีสภาพคล่องหรือมีคนเข้ามาซื้อขายกันมากสุดนั่นเอง
- Gold Futures บ้านเรา จะคำนวณราคาอ้างอิงมาจากดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง หรือดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนประกาศนั่นแหละ โดยปัจจุบัน (มค. 52) อัตราดอกเบี้ยคือ 2%
- จากการใช้ดอกเบี้ยคำนวณราคาอ้างอิง เมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญา ราคาของทองคำจะเท่ากับหรือเกือบเท่ากับราคาทองของจริงเสมอ เพราะหากใครถือจนหมดสัญญา ราคาทองคำวันหมดสัญญาจะไม่มีดอกเบี้ยมารวมด้วย เพราะดอกเบี้ยมันคูณด้วย 0 วันนั่นเอง ราคาที่ใช้ในการคำนวณกำไรขาดทุน จะใช้ราคาทอง London A.M. Fixing Price ซึ่งเป็นราคาตามประกาศของลอนดอนในช่วงเช้าเป็นหลัก (ไม่ใช่ราคาตามประกาศสมาคมฯบ้านเรานะครับ)

มีอะไรที่ยืดยาวกว่านี้ แต่เอาไว้พูดเมื่อถึงเวลาที่จะต้องพูดก็ยังไม่สาย จะได้ไม่งงกัน

ข้อกำหนดที่เขาคิดไว้ ทำให้เกิดสินค้าให้เล่นครั้งละ 4 ตัวพร้อมกันเป็นอย่างน้อย โดยมีราคาต่างกันเล็กน้อยตามเวลาและสถานที่
- 4 รายการแรก คือ ทองคำ spot หรือของจริง ตามด้วย 3 รายการ จากทองคำสัญญาเดือนต่างๆ 3 ซีรีส์ ตามที่บอกไว้ข้างบน
- ทองคำจริง อาจแบ่งย่อยได้อีก เป็นตลาดในประเทศ และต่างประเทศ หากเราเข้าถึงได้

ตารางข้างล่าง แสดงตัวอย่างการคำนวณราคาอ้างอิง สำหรับแต่ละซีรีส์ สมมุติว่า วันนี้วันที่ 1 มค. 52 ราคาทองคำจริง (Realtime) = 14000
ราคาทองคำ Futures = ราคาSpot+(ราคาSpot x อัตราดอกเบี้ย x อายุที่เหลือของสัญญา) โดยดอกเบี้ยเท่ากับ 2%



จะสังเกตว่า ผมใช้คำว่า ราคาอ้างอิง เพราะมันไม่ใช่ราคาจริงที่เกิดขึ้นในตลาด และผมบอกว่า มันคือสินค้าคนละตัวกัน ทำให้การซื้อขายสามารถไปคนละทิศละทางได้ และจุดนี้เองที่จะเกิดการเข้ามาแสวงหากำไรจากส่วนต่างของราคา และมีบุคคลสำคัญในตลาดที่เราเรียกว่า ผู้ค้ากำไร ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า arbitrageur รวมอยู่ด้วย
ที่ผมบอกว่า สำคัญ เพราะ หากปราศจากคนกลุ่มนี้ กลไกราคาจะไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ ราคาทองคำจริง กับ Gold Futures จะไม่มีทางไปด้วยกันได้ครับ

คนกลุ่มนี้ ผมว่า ถ้ามองบ้านเรา อย่างน้อยจะมีกลุ่มผู้ค้าทองคำรายใหญ่ในสมาคมค้าทองคำด้วยแน่นอน เพราะสามารถเข้าถึงตลาดทองคำจริง และ Gold Futures ได้พร้อมกัน และที่สำคัญคือทุนหนา

ผู้ค้ากำไร หรือ arbitrageur นี้ เมื่อเห็นราคา Futures กับของจริง ต่างกันจนสูงมากกว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่ตนต้องเสีย(หรือเสียโอกาสจะได้รับ) ก็จะเข้า Short (ขาย) หรือ Long (ซื้อ) ในตลาดหนึ่ง ขณะที่จะกระทำในทางตรงข้าม ในอีกตลาดหนึ่ง เพื่อกินส่วนต่าง โดยปราศจากความเสี่ยง

ปราศจากความเสี่ยงได้ยังไง?
สมมุติว่า วันนี้วันที่ 1 มค. ราคา spot เท่ากับ 14000 บาท ตามตารางข้างบน แต่ราคาทองคำสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ แทนที่จะเป็น 14047 กลับเป็น 14300 คือราคาสูงเกินจริง

ผู้ค้ากำไร หรือ arbitrageur จะขายหรือ Short สัญญาเดือนกุมภาพันธ์ ที่ 14300 ขณะเดียวกัน ก็จะซื้อทองคำจริงที่ราคา 14000 ไว้ และถือไว้จนวันสิ้นสุดสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งไม่ว่า ราคาในวันนั้นจะเป็นเท่าไหร่ ผู้ค้ากำไร จะได้ส่วนต่างราคา 300 บาทต่อทองคำ 1 บาทแน่นอน มากกว่าดอกเบี้ย 47 บาท ที่ต้องเสีย(หรือเสียโอกาสได้รับ)
เช่น ราคาทองคำวันสิ้นสุดสัญญาอยู่ที่ 15000 บาท
ทองคำจริง กำไรจากการซื้อไว้ 15000-14000 = 1000 บาท
Gold Futures ขาดทุนจากการ Short ไว้ 15000-14300 = 700 บาท
ผลต่างเท่ากับ กำไร 300 บาท

แต่หากกลับกัน หากราคาทองคำอยู่ที่ 13000 บาท
ทองคำจริง ขาดทุนจากการซื้อไว้ 14000-13000 = 1000 บาท
Gold Futures กำไรจากการ Short ไว้ 14300-13000 = 1300 บาท
ผลต่างเท่ากับกำไร 300 บาทเช่นกัน

และการกระทำเช่นนี้จะเกิดอยู่ตลอด และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ราคายังห่างคุ้มพอที่จะทำ และราคาก็จะเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ได้ในที่สุด

ทั้งหมดที่เล่ามา คงพอทำให้พวกเราเข้าใจกลไกราคากันมากขึ้นบ้างนะครับ ว่าทำไม ราคาทองคำ Gold Futures กับทองคำจริงๆ ถึงผูกติดกัน หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันได้ ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรมาเกี่ยวกันสักหน่อย TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

แสดงความคิดเห็น