Tip เล็กๆกับ ''ทอง''

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เขียนโดย Admin
มาเรียนรู้วิธีการใช้งานหรือการดูแลที่ถูกต้องง่ายๆ กันครับ ผมพยายามรวบรวมประเด็น เกร็ดเล็กเกล็ดน้อย ที่ผมแนะนำลูกค้าบ่อยๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ บางประเด็นก็อาจจะง่ายๆ แต่มองข้ามกันไปก็มี บางประเด็นก็เป็นเรื่องชวนปวดหัวครับ กับการอธิบายให้ลูกค้าขึ้สงสัยให้เข้าใจ

สร้อยดำจังเลย ทองไม่ดีหรือเปล่า


ลูกค้าก่อนจะโทษว่าตัวเองไม่รู้จักการดูแลรักษา มักโทษร้านทองก่อนว่า สงสัยจะเอาทองเปอร์เซนต์ไม่ดีให้ ผมมักจะถามลูกค้าว่า คุณซื้อเสื้อผ้าใส่มันทุกวันโดยไม่ซักบ้างไหม ทำนองเดียวกัน สร้อยที่คุณสวมใส่ ถ้าคุณไม่ทำความสะอาดมันบ้าง คราบสกปรกมันก็หมักหมมอยู่แถวนั้นแหละ อย่าไปคิดว่า ตัวเราเป็นคนสะอาดสะอ้าน ลองสะอาดแบบใส่เสื้อแล้วไม่ซักดูสักเดือนสิครับ แหะๆ หลังจากแขวะลูกค้าพอหอมปากหอมคอ โทษฐานที่มากล่าวหา ผมก็แนะนำวิธีง่ายๆในการดูแลทำความสะอาดสร้อยทองคำ ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆที่มีอยู่ที่บ้านนั่นแหละ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ( หรือแฟ๊บหรือผงซักฟอกก็พอได้) แปรงสีฟันเก่าๆ สักอัน
1. ถ้าลวดลายไม่ซับซ้อนซอกซอนอะไรมาก ก็แปรงธรรมดากับน้ำยาล้างจาน แล้วตามด้วยน้ำเปล่าสักรอบ ก็เรียบร้อยครับ
2. หรือถ้าเป็นลายโปร่งหรือลวดลายที่แปรงถึงยาก
2.1 อาจใช้ต้มเอาเลย เอาสร้อย ลงหม้อ หรือ ถ้วยโลหะเล็กๆใส่น้ำพอท่วมสร้อย น้ำยาล้างจานนิดหน่อยก็พอ เยอะไปเดี๋ยวฟองล้น ต้มให้เดือดนานจนพอใจ อย่าถึงกับน้ำแห้งหมดล่ะครับ
2.2 หรือถ้ามีโซดาไฟ อาจใช้โซดาไฟแทน โดยแค่แช่สร้อยทิ้งไว้สักคืน ก็สะอาดดี(ถึงดีกว่า) คำเตือน โซดาไฟต้องใช้อย่างระมัดระวังนะครับ
2.3 ต้มน้ำเปล่า เพื่อขจัดน้ำที่ผสมน้ำยาล้างจานหรือน้ำโซดาไฟ ที่อาจตกค้างอยู่ตามซอกให้หมดไป
2.4 เอาแปรงปัดๆผิวงาน ขณะยังเปียกน้ำ ตามซอกที่พอจะเข้าถึงอีกที
2.5 หาไดร์เป่าผม มาจัดการเป่าจนกว่าจะแน่ใจว่า ไม่มีน้ำตกค้างตามซอก ลายที่มีน้ำขังแล้วออกยากๆ เช่น ลายโปร่งยักษ์ๆทั้งหลาย เช่น ลายทาโร่ยอดฮิต เป็นต้น อาจต้องใช้เวลาเป่านานหน่อย
การต้ม ควรใช้กับรูปพรรณทองล้วนๆ ถ้าอย่างอื่นปน เช่นสีลงยา หรือ พลอย คงเป็นพิจารณาความเหมาะสมอีกทีนะครับ


เทคนิคการถนอมตะขอสร้อย


หลายท่านที่ชอบใส่สร้อยเส้นสั้นๆแล้วชอบถอดเข้าถอดออก มักจะมีปัญหาตะขอเสียรูปทรง ตะขอหัก แล้วก็ต้องมาเสียตังค์เปลี่ยนตะขอ หรือบางคนเกรงใจ กลัวร้านทองรวยช้า เปลี่ยนซะทั้งเส้น (ฮิฮิ หวาน!) แหม ก่อนจะเสียตังค์ มายืดอายุการใช้งานตะขอกันดีกว่า
เทคนิคง่ายๆ ที่อาจมองข้ามกัน โดยมากการเปิดตะขอ มักจะแสดงพลังกันเต็มที่ ง้างกางออกไปด้านข้าง (บางคนเล่นเอาฟันงัดก็มี) โดยเฉพาะตะขอสร้อยเส้นใหญ่ๆ ตัวไหนหนาหน่อย พาลหาว่าทองไม่ดีไปซะอีก
ผมแนะนำวิธีง่ายๆ ให้ใช้ปลายนิ้ว ย้ำว่าปลายนิ้วนะครับ ไม่ใช่ปลายเล็บ จับตะขอบิดเอียงไปด้านหน้า หรือ หลัง แค่พอให้ขยับห่วงของปลายสร้อยออกได้ก็พอ การบิดแบบนี้ ใช้แรงน้อยกว่า ตะขอไม่หักเร็ว และไม่เสียรูปง่ายครับ เพียงเท่านี้ คุณก็มีตังค์เหลือไว้เติมน้ำมันหลายลิตร



ต่างหูแป้นหลวม กำไลแบบเปิดได้ ใช้นานๆแล้วล็อคไม่อยู่

แป้นต่างหู ปกติเมื่อใช้งานไปสักพัก มันจะหลวม วิธีการก็ง่ายๆครับ ถอดมันออกมา แล้วก็บีบด้วยปลายนิ้วให้มันชิดกัน แล้วก็ใส่กลับเข้าไปดู ว่าแน่นขึ้นไหม ปกติ ถ้าไม่เสียรูปไปมาก ก็จะแน่นขึ้นแน่นอนครับ



ส่วนกำไลเปิดปิด เมื่อใช้งานไปสักพัก เดือยมันจะตก ลองหาปลายเข็มขนาดพอเหมาะแหย่ตรงๆ เข้าไปตามรูปครับ เพื่อให้แหนบสปริงมันสูงขึ้น เท่านี้ ก็จะแน่นอย่างกับตอนซื้อใหม่ ทั้งนี้ กำไลต้องไม่เบี้ยวนะครับ ถ้าเบี้ยว คงต้องลองดัดเบาๆให้เข้ารูป หรือ ไม่อยากเสี่ยง ก็ใช้บริการทางร้านทองครับ



สร้อยบุบหรือฉีก


อันนี้ไม่มีวิธีแก้หรอกครับ คงต้องให้ทางร้านทำให้(ถ้าทำได้นะ) แต่จะปรับความเข้าใจของลูกค้าว่า สร้อยทองคำรูปพรรณ มันไม่ได้แข็งแรงอย่างที่หลายๆคนคิด ต้องจับหรือใช้งานมันอย่าทะนุถนอมครับ ทองคำเป็นโลหะที่อ่อน สามารถทำ รูปพรรณได้ง่ายกว่าโลหะชนิดอื่นๆ สมัยก่อนทองรูปพรรณมีแต่ลายตันๆ การใช้งานสมบุกสมบันก็ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ปัจจุบัน ด้วยราคาทองคำที่แพงขึ้นกับแพงขึ้น + มันสมอง สองมือช่าง ก็รังสรรค์ทองคำเส้นใหญ่ๆ ราคาเบาๆ สำหรับคน กระเป๋าไม่หนัก ให้ใส่แบบเห็นกันชัดๆ ไม่ต้องทนใส่สร้อยเท่าหนวดกุ้งอีกต่อไป
ลูกค้าเดินเข้าร้านทองเกือบทุกรายก็ว่าได้ครับ บอกกับทางร้านว่า "ขอลายตันๆนะ" แต่เกือบทุกรายเช่นกันครับ เลือกลายที่เตะตาที่สุด คือใหญ่ที่สุดนั่นแหละ กลับไป ผลที่ตามมาคือ สร้อยบุบ สร้อยฉีก สร้อยขาด ชำรุดง่ายมากๆ จำเลยก็เป็นร้านทองตามเคย (ช่างไม่ยักโดนแฮะ)
เมื่อรักจะใส่สร้อยโปร่ง ลองมาฟังคำแนะนำ เพื่อยืดอายุการใช้งานของมันครับ
- อันดับแรกเลย อย่าคิดว่า ทองมันแข็งครับ บางคนขอลองกดดูสักหน่อย พอบุบแล้วก็ตกใจ แถมบางทีแก้ไม่ได้เสียด้วย
- บริเวณหัวจรวด หรือ ห่วงร้อยตะขอ เป็นส่วนที่บุบ หัก งอ ฉีก ชำรุดบ่อยที่สุดเพราะความไม่รู้ของผู้สวมใส่เองเลยครับ บางทีจับหัวจรวดงัดเพื่อเปิดตะขอ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง การเปิดตะขอ ให้จับที่ตะขอบิดเลยครับ อย่าเอาส่วนของสร้อยงัดเด็ดขาด
- อย่าห้อยจี้หนักเกินไป ควรดูขนาดที่เหมาะสมครับ สร้อยโปร่งจะสึกและขาดเร็วมาก ถ้าจี้มีน้ำหนักถ่วงมากเกินไป
- สร้อยติดขัดกัน อย่าใช้แรงดึงให้มันคลาย ค่อยๆจับคลายออกมาอย่างใจเย็นๆครับ ห้ามใช้กำลังเด็ดขาด ว่างั้น!!!


สารบางอย่าง ควรหลีกเลี่ยง
- อันแรก ผมไม่แน่ใจว่ามีสารอะไรบ้าง ประเภท น้ำหอม หรือ น้ำยาทำผม อะไรพวกนี้แหละครับ บางครั้งทำให้ทองเปลี่ยนสีไปออกแดงๆแปลกๆ ใครทราบว่าเป็นน้ำยาตัวไหนที่ชัดเจนก็แนะนำมาได้ครับ
- สารปรอท อันนี้ตัวสำคัญ เคยมีบทความเรื่องนี้แล้ว ลองไปหาอ่านได้ครับ คงไม่กล่าวถึง

ทองรูปพรรณใช้ร่วมกับทองหุ้ม, เงิน, นาค

- จี้ทองหุ้ม ห้อยกับ สร้อยคอทองคำ แล้วทำให้ทองตรงร่องตะขอสร้อยส่วนที่สัมผัสกับจี้ทองหุ้มนั้นคล้ำหรือดำ นั่นน่าจะเป็นเพราะว่า โลหะอื่นเช่นทองเหลือง,สนิมทองเหลือง ซึ่งสีมันคล้ำกว่าทอง และอาจจะแถมด้วยขี้ไคลคนใส่นั่นแหละ เคลือบลงไปบนผิวทองคำ ทำให้ดูคล้ำได้ สังเกตว่า ถ้าจี้เป็นทอง 90% ก็เป็นน้อยลง และ 96.5% ด้วยกันก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
- ส่วนกรณีเงินใส่คู่กับทองคำ เช่น แหวนเงินกับแหวนทอง หรือ จี้เงินสร้อยทอง หรือ จี้ทองสร้อยเงิน ค่อนข้างจะเห็นชัดเจน เพราะเงินเป็นโลหะที่อ่อนเช่นกันกับทอง ถึงแม้ว่าจะแข็งกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีบางส่วนสามารถสึกไปติดบนผิวทองคำได้ สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ากับเจ้าของร้านทอง มาอธิบายลูกค้าขี้สงสัยได้ไม่น้อย
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:
  1. บลอคนี้เจ้าของร้านทองตัวจริงเลยรึเปล่าคะเนี่ย เป็นประโยชน์มากมายค่ะ

  2. ไม่ระบุชื่อ

    เป็นประโยชน์ม่ก ขอบคุณค่ะ

  3. ไม่ระบุชื่อ

    ถ้าแขวนจี้ไปบนตัวสร้อยให้เคลื่อนที่ไปได้ทั้งเส้น โดยไม่ได้แขวนจี้ไว้กับขอล็อคตัว u จะทำให้ห่วงจี้สึกเร็ว หรือสร้อยสึกเร็วคะ และควรจะแขวนจี้แบบเคลื่อนที่ได้ทั้งเส้น หรือล็อคไว้ที่แขวนดีที่เป็นตัว u ดีคะ ในกรณีไม่ชอบสร้อยที่มีตัวแขวนพระ ขอบคุณค่ะ

  4. ไม่ระบุชื่อ

    สร้อยข้อมือใส่ทองซื้อมาแรกๆคับ แต่ใส่มานานๆแร้วยืดเกี่ยวมั้ยคร้า
    ไม่รู้ว่าผอมลง หรือทองมันยืดอ้ะคร้า

  5. ไม่ระบุชื่อ

    สร้อยคอใส่แล้วชอบบิดเป็นเกลียวทำไงดีคะ

  6. หัวแหวนทองรูปพรรณบุบลงถ้าเอาไปต้มกลับน้ำเปล่าแหวนทองจะคืนสู่สภาพเดิมรึเปล่าครับ

  7. อยากทราบคำตอบครับ

  8. หัวเเหวนบุบทำยังหงไห้กลับคืนสู่สภสพเดิม?

แสดงความคิดเห็น