ศิลปะบนเนื้อทอง

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554 เขียนโดย Admin 1 ความคิดเห็น

ช่างทองโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ช่างทองรูปพรรณและช่างทำภาชนะต่าง ๆ ช่างทองเมืองเพชรอยู่ในกลุ่มช่างทองรูปพรรณ รูปแบบทองรูปพรรณของเมืองเพชรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นิยมทำเครื่องประดับประเภท

สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ตุ้มหู ลวดลาย

ที่ได้สร้างสรรค์จนเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้


- ขัดมัน เป็นชื่อสร้อยคอ มีลักษณะเป็นห่วงกลมเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน โดยช่างจะใช้ตะไบลบเหลี่ยมห่วงของสร้อยตลอดเส้น
- สี่เสา หกเสา และแปดเสา เป็นลวดลายการถักห่วงกลมขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นสร้อยคอและสายสะพายแล่ง สรอยสี่เสาจะมีขนาดเล็ก สร้อยหกเสามีขนาดปานกลาง ส่วนสร้อยแปดเหลี่ยมจะมีขนาดใหญ่
- สมอเกลียว เป็นสร้อยที่ทำจากลวดลายทองคำขดเป็นห่วงแล้วเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ปะวะหล่ำหรือปะวะหล่ำทรงเครื่อง ซึ่งเลียนแบบมาจากโคมจีน
- ลูกสน มีลักษณะคล้ายลูกสนทะเล ประกอบด้วยโครงลวดทองขนาดเล็กต่อประกอบกัน
- เต่าร้าง เป็นชื่อเรียกตุ้มหู มีลักษณะคล้ายพวงของผลเต่าร้าง
- ลูกไม้ปลายมือหรือเล็บมือ เป็นทองรูปพรรณประเภทสร้อยข้อมือ ประกอบด้วยทรงกระบอกขนาดเล็กคั่นด้วยทอง ทำเป็นรูปดอกพิกุลหรือเป็นรูปห้าแฉก คล้ายฝ่ามือและฝ่านิ้ว
- ดอกพิกุล เป็นลวดลายทอง นิยมใช้ตกแต่งหรือประกอบทองรูปพรรณลวดลายอื่น
- ดอกมะลิ เป็นทองรูปพรรณมีลักษณะคล้ายดอกมะลิกำลังบาน โดยกลีบดอกมะลิแต่ละดอกจะประดับเพชรซีก ยาวรี ด้วยวิธีการตีขอบ
- ก้านบัว เป็นชื่อเรียกกำไลข้อเท้า สำหรับเด็กในสมัยก่อนมีลักษณะเป็นห่วงขนาดใหญ่ กลมเกลี้ยง
- บัวสัตตบงกช (กระดุม) เป็นลายทองรูปพรรณ เลียนแบบบัวสัตตบงกช มีชื่อเรียกในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า กระดุม
- บัวจงกลและมณฑป เป็นลวดลายของช่างเขียนลายไทย ซึ่งช่างงทองได้นำมาออกแบบเป็นปิ่นปักผม
- ประจำยาม ช่างทองได้ดัดแปลงลายประจำยามมาทำเป็นจี้ มีสองชนิดคือ จี้ตัวผู้กับจี้ตัวเมีย
- เสมหรือปลา เป็นลวดลายที่ช่างทองสมัยโบราณนิยมทำเป็นแผ่นทอง และดุนให้เป็นลวดลายเสมาหรือปลา
- ผีเสื้อ เป็นทองรูปพรรณที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์จากโครงสร้างของผีเสื้อ
- งู พญานาค และมังกร เป็นลวดลายทอง ซึ่งดัดแปลงจากสัตว์ประเภทงู ช่างนิยมทำเป็นแหวนงูประเภทต่าง ๆ
- มังกร ลวดลายมังกร เป็นการแกะสลักผสมผสานการเคาะและดุนลวดลายลงบนแผ่นทองคำ ซึ่งตีขึ้นเป็นรูปกำไล
- ตะขาบ เป็นลวดลายทองรูปพรรณ ที่เลียนแบบตัวตะขาบ นิยมทำเป็นสร้อยข้อมือ
- พิรอด ในสมัยโบราณพิรอดเป็นแหวนซึ่งถักด้วยผ้ายัญหรือด้ายดิบ นิยมใช้เป็นเครื่องราง ช่างทองได้ดัดแปลงลวดลายมาทำเป็นแหวนพิรอด
- ตะไบ เป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกทั่ว ๆ ไป แต่ช่างทองเมืองเพชรบุรีใช้วิชาการสลักลวดลาย
ป้ายกำกับ: