ใบรับรองอัญมณี สู่ ราคามหาศาล!!!

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เขียนโดย Admin

การตรวจสอบแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ของอัญมณีนับเป็นงานบริการที่สถาบันได้ดำเนินการเพิ่มเติมจากการให้บริการตรวจสอบอัญมณีทั่วไปซึ่งเน้นการตรวจสอบความเป็นธรรมชาติและการปรับปรุงคุณภาพเป็นหลัก ในปัจจุบันห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และตรวจสอบอัญมณีชั้นนำทั่วโลกต่างมีบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของอัญมณี ซึ่งโดยทั่วไปการให้บริการดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะอัญมณีที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง เช่น ทับทิม ไพลิน และ มรกต เนื่องจากอัญมณีดังกล่าวหากมาจากแหล่งที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพสูงและเป็นที่นิยมของตลาดก็จะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาของอัญมณีนั้นสูงขึ้นด้วย เช่น ทับทิมพม่า ไพลิน
ศรีลังกา มรกตโคลอมเบีย เป็นต้น

เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย สถาบันได้เปิดให้บริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของอัญมณีนับตั้งแต่ปี 2546 โดยอาศัยฐานข้อมูลจากงานวิจัยด้านแหล่งกำเนิดที่ทางสถาบันได้จัดทำและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถาบันมีฐานข้อมูลที่สามารถออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสำหรับทับทิม ไพลิน และ มรกต จากแหล่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ในส่วนทับทิมได้แก่ แหล่งไทย-กัมพูชา แหล่งพม่า แหล่งเวียดนาม แหล่งมาดากัสการ์ และ แหล่งแทนซาเนีย ในส่วนไพลิน ได้แก่ แหล่งไทย แหล่งพม่า แหล่งศรีลังกา และ แหล่งมาดากัสการ์ ในส่วนมรกตได้แก่ แหล่งโคลอมเบีย แหล่งแซมเบีย แหล่งบราซิล และ แหล่งรัสเซีย ซึ่งแหล่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นแหล่งอัญมณีหลักของโลกที่ผลิตอัญมณีชนิดสำคัญดังกล่าวออกสู่ตลาดโลกทั้งสิ้น
สำหรับในวงการค้าอัญมณี ผู้ขายและผู้ซื้อมักนำเอาแหล่งกำเนิดของพลอย
คอรันดัมมาใช้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการกำหนดราคา โดยทั่วไปอัญมณีเกือบทั้งหมดที่มีการขอรับบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดล้วนเป็นอัญมณีคุณภาพสูง ขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากอัญมณีคุณภาพสูงที่มาจากแหล่งที่มีชื่อเสียงเท่านั้นมักจะเป็นที่ต้องการในตลาดอัญมณี การทราบแหล่งกำเนิดจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาของอัญมณีเม็ดดังกล่าวสูงกว่าอัญมณีชนิดเดียวกันที่ไม่ได้ระบุแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มาทางภูมิศาสาตร์เป็นอย่างมาก แม้ว่าอัญมณีทั้งสองเม็ดจะมีคุณภาพใกล้เคียงกันก็ตาม

ในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น ความถูกต้องของผลการตรวจสอบเกิดจากการได้ข้อมูลที่ครบถ้วนจากอัญมณีที่ทำการตรวจสอบ ทั้งในด้านลักษณะมลทิน ผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ผลวิเคราะห์การดูดกลืนแสง โดยใช้ทั้งเครื่องมือพื้นฐานและเครื่องมือขั้นสูง ซึ่งในการสรุปผลจะต้องนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาทำการประมวลและเทียบเคียงว่าสอดคล้องกับฐานข้อมูลหรือไม่ ขั้นตอนต่างๆ ล้วนต้องใช้เวลาและประสบการณ์ของนักอัญมณีที่ทำการตรวจสอบเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การตรวจสอบแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ใช้เวลานานกว่าการตรวจสอบโดยทั่วไป

ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาออกกฏหมาย "Tom Lantos Block Burmese JADE Act of 2008" ห้ามนำเข้าอัญมณีที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเมียนมาร์สู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกทับทิม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลักและทับทิมที่มีใช้อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นทับทิมพม่า สถาบันในฐานะองค์กรหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ จึงได้ดำเนินการขยายบริการตรวจสอบแหล่งกำเนิดให้แก่อัญมณีจากเดิมที่รับตรวจสอบเฉพาะอัญมณีที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.50 กะรัต โดยเพิ่มบริการรับตรวจสอบสำหรับอัญมณีขนาดเล็ก (ไม่ต่ำกว่า 0.20 กะรัต) รวมทั้งการตรวจสอบอัญมณีแบบหมู่ และอัญมณีที่อยู่ในตัวเรือนเครื่องประดับโดยการสุ่มตรวจสำหรับเม็ดที่สามารถวิเคราะห์ได้ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ตรวจ สถาบันจึงระบุแต่เพียงว่า "Nonburmese Origin" ซึ่งอัญมณีขนาดเล็กนั้นนับเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเป็นเครื่องประดับอัญมณีที่มีการค้าขายและส่งออกสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการการห้ามนำเข้าอัญมณีของประเทศเมียนมาร์ไปยังสหรัฐอเมริกาดังกล่าว
TOP OF PAGE
ป้ายกำกับ:

แสดงความคิดเห็น